27 ก.ค. 2560

รถไฟสายตัว Q : สายเฉลิมรัชมงคล vs สายโอเอโดะ ep.1

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน
สวัสดีจากสตูดิโอสามเสนครับ
⇐ โพสต์ก่อนหน้านี้ /// โพสต์ถัดไป ⇒

นานๆ จะได้กลับมาที่ไทยปีละครั้งครับ
ผมเองไม่ใช่คนฝั่งธนบุรีก็จริง แต่ก็ได้มีโอกาสติดตามการก่อสร้างของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือสายเฉลิมรัชมงคลครับ เท่าที่ผมจำความได้ก็จะมีการก่อสร้างส่วนใต้ดินแถวๆ ย่านพาหุรัด สนามไชย และทางรถไฟลอยฟ้าบางช่วงของจรัญสนิทวงค์ ซึ่งลอยฟ้ากับแบบสูงข้ามทางรถยนต์ยกระดับเดิมมากเลยทีเดียว

เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วเอกลักษณ์หนึ่งของทางรถไฟสายนี้คือการมีเส้นทางเหมือนกับเป็นวงกลมจากท่าพระ มุดใด้ตินแล้วลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยามาถึงสนามไชย ผ่านเยาวราช ไปถึงเส้นทางเดิมคือหัวลำโพง สีลม ห้วยขวาง บางซื่อ เตาปูน ข้ามแม่น้ำอีกครั้ง (ตรงนี้จำเส้นทางไม่ได้) แล้วไปทางจรัญ จากนั้นวนไปถึงท่าพระ และมีหางจากท่าพระ ไปถึงบางแค เมื่่อลองเขียนแล้วจะเหมือนกับตัวอักษร Q ที่กลับด้านหรือไม่ก็เลข 9 ครับ
เพราะฉะนั้นรถไฟสายนี้จะไม่ได้วิ่งเป็นวงกลมที่สมบูรณ์แบบ แต่จะวิ่งในลักษณะของการเขียนเลข 9 แบบลากเส้นเส้นเดียว รถไฟจะวิ่งจาก บางแค ท่าพระ หัวลำโพง ห้วยขวาง บางซื่อ ท่าพระ ครับ และจะไม่มีการวิ่งเป็นวงกลมปิดเกิดขึ้นเลย เท่ากับว่าถ้าขึ้นจากบางแค บางหว้า แล้วต้องการไปทางบางซื่อ ก็จะมีสองทางคือเปลี่ยนรถที่ท่าพระ หรือจะหลับยาว แต่จะต้องอ้อมไปทางสีลม ห้วยขวาง ซึ่งก็หลับยาวจริงๆ

ซึ่งรถไฟสายนี้ก็จะคล้ายกับทางรถไฟในโตเกียวสาย 12 ซึ่งก็คือ "Toei (บริหารโดยเทศบาลนครโตเกียว) Oedo line" มีต้นทางจาก Hikarigaoka (E-38) ไปจนถึงศาลาว่าการกรุงโตเกียว (Tochomae E-28) แล้วแยกไปที่ชินจุกุ (E-27) รปปองกิ(E-23) วนจากใต้ขึ้นเหนือ แล้วมาที่ชินจุกุทางออกตะวันตก (Shinjuku-Nishiguchi E-01) ก่อนจะวกกลับไปบรรจบที่ Tochomae (E-28) เป็นสุดสาย
ถ้าเรียงแล้วก็จะเหมือนกับว่ารถไฟวนจากเลข 01 ไป 38 จะมีเพียงตอนสุดท้ายที่เลข 01 แล้วกระโดดไปสุดสาย 28 แต่มันจะไม่ไปต่อ 29 เป็นอันขาด

ถ้าจะถามว่าลักษณะการวิ่งนั้นเหมือนกันหรือไม่ ผมก็เขียนแมพครั้งเดียวแล้วสามารถก็อปวางได้ทั้งสองสายเลย...
ทว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของเรานั้นเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะวิ่งทั้งยกระดับและใต้ดิน ทั้งนี้เองกรุงเทพฯ ไม่ได้มีชั้นดินที่เหมาะกับรถไฟใต้ดินเท่าไหร่นัก(เขาว่ากันว่า?) ประกอบกับทางรถไฟใต้ดินมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้เรานิยมการทำรถไฟลอยฟ้าเสียมากกว่า แต่สาย Oedo line ที่ผมพูดถึงในวันนี้ เป็นรถไฟใต้ดินตลอดสาย 38 สถานี รวมความยาว 43.6 กิโลเมตร นี่ทำให้เป็นอุโมงค์ที่ยาวเป็นอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น และรถไฟสายนี้ลอดผ่านทั้งแม่น้ำต่างๆ รวมถึงมุดใต้ทางรถไฟใต้ดินที่มีอยู่เดิม สถานีที่ลึกที่สุดนั้นลึกจากผิวดินถึง 40 เมตรเลยทีเดียว
นั่นทำให้รถไฟฟ้าสายนี้มีค่าก่อสร้างที่สูงดิ่งฟ้าเลยทีเดียว ได้มีการพยายามลดค่าใช้จ่ายโดยการทำให้รถมีขนาดเล็กลง ใช้มอเตอร์แบบลิเนียร์ให้ช่วงล่างมีขนาดเล็กลงด้วย ทำให้หน้าตัดอุโมงค์เล็กลง
แต่สุดท้ายค่าก่อสร้างก็ตกอยู่ที่ประมาณกิโลละ หนึ่งหมื่นล้านบาท หรือรวมค่าก่อสร้างทั้งหมด สี่แสนกว่าล้านบาท
รถไฟสายที่เหมือนกับว่าจะเป็นวงกลม แต่ก็ไม่เคยจะวิ่งเป็นวงกลมจริงๆ สักที? กลายเป็นว่าคนที่อยู่บางแค ต้องการไปบางซื่อ ก็ต้องเปลี่ยนรถที่ท่าพระทุกวัน ใช่ ใครๆ ก็อยากนั่งต่อเดียวถึงใช่ไหมละ...

แต่เรามาลองคิดดูกันในครั้งหน้าครับ มันมีอยู่เหตุผลหนึ่งที่รถไฟวิ่งลูปตัว Q ไม่ได้ครับ ลองเขียน "หัวลูกศร" ดูครับ

WORKETA
worketadirect@gmail.com

ภาพจาก https://trafficnews.jp/post/76823/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น