28 พ.ย. 2560

รถไฟสายตัว Q : สายเฉลิมรัชมงคล vs สายโอเอโดะ ep.2

ความเดิมจากตอนที่แล้ว

รถไฟสายโอเอโดะ เดิมทีแล้วเรียกว่ารถไฟฟ้าใต้ดินสายสิบสอง(พูดแล้วก็นึกถึงรถเมล์สายสิบสองที่ผ่านหน้าสตูดิโอเก่าพระนคร...) เดิมทีแล้วไม่ได้เปิดเส้นที่อยู่ในเมืองแบบสายสีน้ำเงินของเราครับ แต่เขาเปิดจากส่วนนอกเมืองก่อน แล้วไปเป็นฟีดให้กับรถไฟสายเอกชน(Seibu Ikebukuro line) ที่สถานี Nerima ครับ
(วิดิโอสมัยปี 1992 จากช่องยูทูบ Lyle Hiroshi Saxon ใครที่อยากเห็นโตเกียวช่วงยุค 90 แนะนำช่องนี้ครับ)
อีกปัจจัยหนึ่งคือการก่อสร้างภายในตัวเมืองนั้นเป็นอะไรที่ลำบากครับ เพราะสาย Oedo เป็นสายที่สร้างหลังๆ จากที่โตเกียวเกือบๆ อัดแน่นไปด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินสายอื่นๆ ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สายโอเอโดะมีจุดต่ำสุดจากผิวดินลึกถึง 42 เมตรเลยทีเดียวครับ (แต่ญี่ปุ่นมีลึกกว่านี้ครับ ไว้วันหลัง)

...เรามาต่อกันเรื่องสาย Oedo line ว่าทำไมมันถึงไม่วิ่งเป็นวงกลมครบรอบเสียที
ปัญหาของมันก็อยู่สถานีที่ลูปมาบรรจบกัน "Tochomae (E-28)" นี่แหละครับ เพราะว่าหัวขบวนกับท้ายขบวนมันกลับหัวกัน!!

แล้วเราก็จะพูดว่า รถไฟฟ้าหัวขบวนท้ายขบวนยังไงมันก็เหมือนกันป่ะ...
เราก็อาจจะพูดได้ แต่ในบางกรณี รถไฟฟ้าไม่ได้มีโครงสร้างที่มีความสมมาตรตลอดขบวนได้เสมอไป(โดยเฉพาะตำแหน่งของแพนโตกราฟ) ผู้โดยสารอาจจะไม่ได้สับสนอะไรหรอก แต่การกลับหัวหลับหางทำให้มีปัญหาตอนซ่อมบำรุงก็ได้ครับ...
 สถานี Tochomae นั้นเป็นสถานีที่ทั้งสี่ชานชาลาอยู่ในแนวระดับเดียวกัน(ใต้ดิน) ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนต่อขบวนรถด้วยครับ แต่ปัญหาก็คือจะทำให้รถกลับหัวกลับหางกันอย่างที่กล่าวไปข้างต้นครับ อีกส่วนหนึ่งก็คือเป็นการลดค่าใช้จ่ายและเพื่อความเรียบง่ายของแบบสถานีครับ
ตัวอย่างหัวรถจักรดีเซลหัวเดียว แม้ว่าหน้าทั้งสองหน้าจะเหมือนกัน แต่ก็จะมีเลขกำกับไว้ว่า หัวขับหมายเลข 1 หรือ 2 ไว้เสมอครับ เพราะฉะนั้นจะกลับหัวไปกลับหัวมาไม่ได้ เดี๋ยวรถจักรจะเวียนหัวครับ555?
เรามาเปรียบเทียบกับสถานีท่าพระที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้กันครับ ชั้นบนเป็นชานชาลาเกาะกลาง รถที่วนมาจากเตาปูนจะสามารถเข้าได้ทั้งสองชานชาลาครับ
ส่วนชั้นล่างที่เป็นเส้นบางแค-หัวลำโพงนั้นจะเป็นชานชาลาแบบคู่(แยกกันระหว่างขาเข้าขาออก) ถ้าเทียบกับสถานี Tochomae แล้วอาจจะต่อรถลำบากเพราะยังไงก็ตามต้องเดินขึ้นลงบันได แต่เท่าที่ดูแล้วไม่น่าจะมีการชนกันระหว่างเส้นทางผู้โดยสาร (แต่ก็อาจจะมีการกระจุกกันของผู้โดยสารบริเวณตอนกลางของชานชาลา ซึ่งไทยเรารถไฟฟ้ายังไม่ยาวเท่าไหร่ก็อาจจะไม่รู้สึกว่าตอนกลางแน่นกว่าตอนอื่น เพราะมันแน่นไปหมดสามตู้)
แล้วเส้นสีแดงที่เชื่อมระหว่างสายเตาปูนและสายหัวลำโพงคืออะไรนี่...
ตอนแรกผมก็งงๆ แต่เมื่อลองดูจากแผนที่ทางอากาศก็พบว่าเป็นการออกแบบที่ชาญฉลาดครับ ที่เรากล่าวถึงมาโดยตลอดเรื่องรถไฟกลับหัว ปัญหานั้นจะไม่เกิดขึ้นกับสายสีน้ำเงินของเราครับ จะเห็นว่าเส้นที่เชื่อมสองสายเข้าด้วยกันนี้จะต้องให้รถไฟที่มาจากเตาปูนวิ่งเลยจากชานชาลาไป พอเลยชานชาลาและประแจสีแดงแล้วจะถอยหลังเปลี่ยนทิศทาง (switchback) แล้วเข้าสู่สายบางแคครับ เส้นนี้จะทำให้รถไฟไม่เกิดการกลับหัวกลับหางขึ้น แต่เส้นนี้จะใช้สำหรับเฉพาะรถเปล่าครับ
(ขออนุญาตนำภาพจาก Render Thailand มาประกอบครับ)
ด้วยทางรถไฟสายนี้สร้างลอยฟ้าตามแนวถนน โครงสร้างนี้ก็คงเป็นโครงสร้างที่ออกแบบได้เหมาะสมครับ

สำหรับวันนี้พอแค่นี้ก่อนครับ ครั้งหน้าถ้ามีอะไรเพิ่มเติมจะมาเรียบเรียงให้อ่านกันครับ
WORKETA

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น