สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ วันนี้จะมาเล่าเรื่องรถไฟมือสองครับ
หลายๆ ท่านคงจะได้ยินข่าวช่วงนี้เรื่อยๆ เกี่ยวกับรถไฟมือสองของไทยที่ได้จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจริงๆ แล้วการหมุนเวียนรถไฟมือสอง เกิดขึ้นอยู่ทั่วโลกเลยก็ว่าได้ ไม่ว่าญี่ปุ่นจะให้รถไฟมือสองแก่หลายๆ ประเทศในภูมิภาค ASEAN หรือนอกจากญี่ปุ่นเองก็มีอย่างเช่น รถไฟ Intercity 125 ของอังกฤษเอาไปวิ่งต่อมือสองในอเมริกาใต้หรือแอฟริกา หรือการโอนย้ายรถไฟความเร็วสูงข้ามประเทศที่เกิดอยู่บ่อยๆ ในโซนยุโรป แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นเอง ก็มีการหมุนเวียนรถไฟมือสองอยู่ตลอดเวลา วันนี้จึงขอรวบรวมการหมุนเวียนรถไฟมือสองที่เกิดขึ้นภายในประเทศญี่ปุ่นให้อ่านกันครับ
ก่อนอื่น รถไฟญี่ปุ่นบางบริษัทมีโครงข่ายครอบคลุมหลายจังหวัด บางครั้งรถไฟก็จะมีการถูกโอนย้ายเส้นทางหรือจังหวัดที่ประจำการอยู่ แต่ในกรณีที่ยังคงอยู่ในบริษัทเดียวกันนั้น ขอถือว่าไม่เป็นรถไฟมือสองละกันครับ รถไฟมือสองในที่นี้จะหมายถึงรถไฟที่ถูกย้ายจากบริษัทหนึ่งไปยังอีกบริษัทหนึ่ง
"รถไฟชนบท" (Chiho Tetsudo)
ซึ่งรถไฟเกือบทั้งหมดเป็นรถไฟเก่าจากรถไฟฟ้าใต้ดินในโตเกียว
ในญี่ปุ่นมีรถไฟทุกจังหวัด แทบทุกจังหวัดจะมีรถไฟท้องถิ่นที่เป็นเอกชนของตัวเองอยู่ บางสายก็มีมาร้อยกว่าปีเพราะญี่ปุ่นให้เสรีในกิจการรถไฟมาตลอดตั้งแต่สมัยนั้น
ในสมัยก่อนนั้นรถไฟทางหลักระหว่างเมืองที่เป็นของรัฐบาลนั้นส่วนใหญ่ยังไม่มีการติดไฟฟ้า แต่รถไฟท้องถิ่นต่างจังหวัดที่ระยะทางสั้นๆ ก็ติดไฟฟ้าไปตั้งแต่เริ่มให้บริการ กลายเป็นว่าในสมัยก่อนนั้นรถไฟเอกชนนั้นมีความทันสมัยมากกว่ารถไฟรัฐบาลเสียอีก รถไฟเอกชนที่ติดไฟฟ้าตั้งแต่แรกๆ ท่านสามารถสังเกตได้เพราะจะชอบใช้ชื่อเรียกว่า Dentetsu (電鉄) ซึ่งแปลตรงๆ ว่ารถไฟฟ้า
เดิมทีแล้วรถไฟท้องถิ่นก็มีรถไฟรุ่นเฉพาะของตัวเองอยู่ แต่เนื่องจากเศรษฐกิจที่หดตัวลงตั้งแต่ช่วง 1980s หลายๆ เส้นทางรถไฟท้องถิ่นก็ค่อยๆ ทยอยหายไป แต่บางเส้นทางที่ยังคงให้บริการอยู่ก็เริ่มจำเป็นต้องซื้อรถใหม่เพื่อทดแทนรถเก่าๆ ที่ใช้มาเกือบ 60 ปี แต่เมื่อสภาพเศรษฐกิจไม่ได้คล่องตัวมากนัก การซื้อรถไฟมือสองที่เริ่มปลดระวางจากบริษัทใหญ่ๆ ในกรุงโตเกียว (หรือหัวเมืองอื่นๆ) ก็เป็นทางเลือกถัดมา
ลองมาดูตัวอย่างเด่นๆ กันบ้างครับ
Kumamoto Electric Railway ที่มีรถไฟ Kumamon น่ารักๆ นั้น จริงๆ แล้วส่วนใหญ่เป็นรถไฟมือสองจากรถไฟฟ้าใต้ดินในโตเกียว อย่างเช่น Tokyo Metro Ginza line, Hibiya line ทางรถไฟสายนี้ก็มีประวัติยาวนานร้อยกว่าปี เสาไฟฟ้าบางต้นนั้นยังเป็นเสาไม้อยู่เลย
ทั้งนี้ Ginza line เป็นรถไฟที่ใช้รับไฟฟ้าจากรางสาม และรางวิ่งกว้าง 1435 mm แต่ Kumamoto railway ใช้ไฟฟ้าจากเหนือหัวและใช้ราง 1067 mm รวมถึงตู้โดยสารหัวท้าย 2 ตู้ที่ต้องการนั้นไม่มีมอเตอร์ขับ ทำให้การนำรถ Ginza line มาวิ่งที่ Kumamoto railway นั้นต้องมีการดัดแปลงกันยกใหญ่
ทำไมถึงเลือกรถมือสอง?
อย่างที่กล่าวไว้ รถไฟท้องถิ่นสายเล็กๆ ที่ไม่ได้มีกิจการคล่องตัวก็ไม่สามารถซื้อรถไฟมือหนึ่งได้ตลอด อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการผลิตรถไฟแต่ละครั้งจะต้องมีการออกแบบรถไฟเฉพาะของแต่ละสาย (ให้รถไฟนั้นมีขนาดที่เข้ากับแต่ละเส้นทางได้ ซึ่งบางทีมี spec หรือข้อจำกัดเฉพาะของตัวเอง) ซึ่งรถไฟท้องถิ่นสายเล็กๆ ที่ไม่ได้มีความต้องการตู้รถไฟจำนวนมาก เวลาสั่งซื้อน้อยๆ อาจจะทำให้ไม่คุ้มทุนมากกว่า mass production เหมือนรถไฟฟ้าในเมืองใหญ่
นอกจากนี้ บริษัทรถไฟใหญ่ที่จำหน่ายรถไฟมือสองออกไปได้ ก็จะได้รายได้จากส่วนนี้เข้ามาหักลบกับรายจ่ายที่ใช้ซื้อรถไฟรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่บริษัทรถไฟท้องถิ่นที่ประหยัดเงินได้ บริษัทรถไฟในเมืองใหญ่ก็ประหยัดได้ win-win ทั้งสองผ่าย
แล้วบริษัทรถไฟในเมืองใหญ่ที่โละทิ้งรถไฟรุ่นเก่าออก ไม่ได้หมายความว่ารถไฟรุ่นเก่านั้นหมดสภาพไปแล้วหรือ คำตอบคือไม่ แต่รถไฟในเมืองใหญ่มีชั่วโมงและภาระ (load) ในการวิ่งที่หนัก เช่นวิ่งด้วยความเร็ว 100 กม./ชม. ทั้งวันทั้งคืน ไปถึงอายุหนึ่งเริ่มมีค่าซ่อมบำรุงสูงขึ้น อาจจะไม่คุ้มค่า แต่เมื่อไปรถไฟท้องถิ่นต่างจังหวัดแล้วอาจจะวิ่งแค่ 40-50 กม./ชม. วันละไม่กี่เที่ยว ภาระเบาลงหลายเท่าตัวเลยทีเดียว
"เกมพลิก... และเกมพลิก ?"
ในปี 2023 Seibu Railway ซึ่งเป็นรถไฟเอกชนรายใหญ่ครอบคลุมเขตโตเกียวและไซตามะ ได้ประกาศกว้านซื้อรถไฟมือสองจากบริษัทอื่นๆ รวมเกือบ 100 ตู้ โดยรถไฟที่จะซื้อนั้นเป็นรุ่นที่มี Inverter ที่เป็นระบบขับเคลื่อนประหยัดพลังงาน เพื่อเอามาเปลี่ยนกับรถไฟรุ่นเก่า โดยรถไฟรุ่นที่มี Inverter คือ Tokyu series 9000 (ผลิตปี 1990 - 5 ตู้/ขบวน) และ Odakyu series 8000 (ผลิตปี 1988 - 4 หรือ 6 ตู้/ขบวน)
Seibu Railway มีการซื้อรถไฟรุ่นใหม่อยู่เรื่อยๆ ทำให้ไม่มีคนคิดว่าอยู่ดีๆ จะกว้านซื้อรถไฟมือสองจากบริษัทรถไฟเอกชนรายใหญ่ด้วยกันเองในโตเกียว และเป็นจำนวนมาก
และอีกเกมที่พลิกคือ ช่วงหลังๆ กลับกลายเป็นว่ารถไฟท้องถิ่นที่เราได้กล่าวไปเมื่อสักครู่ เริ่มกลับมาลงทุนซื้อรถไฟมือหนึ่งอีกครั้ง อย่างเช่น Ichibata Railway ก็ซื้อรถไฟรุ่น 7000 ซึ่งผลิตใหม่ทั้งตู้เมื่อปี 2016
Iyo Railway ในจังหวัด Ehime และ Kotoden Railway ในจังหวัด Kagawa ซึ่งอยู่ในเกาะ Shikoku ทั้งคู่ก็ทยอยประกาศซื้อรถไฟผลิตใหม่ อย่างละประมาณ 20 ตู้
สาเหตุใดที่ "เกมพลิก" ...
สภาพเศรษฐกิจของรถไฟท้องถิ่นก็ไม่ได้ดีขึ้นมากนัก แต่อาจได้รับเงินช่วยเหลือจากเทศบาลท้องถิ่น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้คนท้องถิ่นหันมาใช้การขนส่งสาธารณะมากขึ้น หรือถ้าในเมืองท่องเที่ยวก็เป็นการสนับสนุนเพื่อรองรับการท่องเที่ยวไปในตัวด้วย เป็นสิ่งที่ดีที่บางท้องถิ่นพยายามลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น
อีกเกมหนึ่งที่ช่วยได้คือ ต้นทุนการผลิตรถไฟลดลง จากที่ต้องมีการออกแบบรถไฟเฉพาะของแต่ละสาย บริษัทรถไฟก็ได้พยายามดีไซน์รถไฟที่เป็นแบบพื้นฐาน (based-model) และใช้อะไหล่หรืออุปกรณ์ร่วมกัน (common parts) มากขึ้น การออกแบบให้ลดต้นทุนก็เป็นผลดีต่อทั้งผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้ซ่อมบำรุงด้วย อย่าง Ichibata Railway series 7000 ที่กล่าวไว้ข้างต้นเป็นการเอา based-body ของ JR Shikoku series 7000 รวมถึงเครื่องไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมมา customize เล็กน้อย
แต่ทำไมรถไฟเอกชนรายใหญ่ในโตเกียวถึงออกมาสวนกระแสแบบนี้???
ก็เป็นเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับการหมุนเวียนรถไฟ ที่จริงๆ แล้วรถไฟมือสองก็เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกันทั่วโลก เหมือนกับยานพาหนะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ใช้กับบุคคลส่วนตัว หรือยานพาหนะที่เป็นขนส่งสาธารณะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น