15 มิ.ย. 2563

รวบรวมสั้นๆ : ตู้โดยสารที่ไทยได้มาจาก JR-WEST


สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน

   ตลอดช่วงที่ผ่านมานี้ผมได้ทำการเขียนบทความเกี่ยวกับรถไฟไทยเป็นภาษาญี่ปุ่น เป็นการต้อนรับคนญี่ปุ่นที่ชอบรถไฟซึ่งในช่วงปีหลังๆ ให้ความสนใจกับรถไฟไทยมากขึ้น
   ปกติโพสต์ภาษาไทยนั้นผมมักจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยวเล็กๆ น้อยๆ ในญี่ปุ่น แต่ช่วงนี้ดูเหมือนว่าเราคงต้องรออีกสักพักกว่าจะได้โบยบินกันอีกรอบครับ
   ครั้งนี้ผมจึงขอรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับตู้โดยสารของญี่ปุ่นที่ได้นำเข้ามาในไทยกันครับ สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ครับ
เราได้รถมือสองจากญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วง 2538 รถไฟพวกนี้จะเป็นรถที่ถูกปลดวาระจากการแทนที่ด้วยรถใหม่ หรือจากการยกเลิกขบวนรถ (โดยเฉพาะพวกตู้โดยสารนั่งและนอน) รถเหล่านี้ได้มาโดยมีค่าใช้จ่ายเพียงค่าขนส่งทางเรือ บริษัทรถไฟญี่ปุ่นก็ไม่ได้อะไรตอบแทน ส่วนเราซึ่งเป็นผู้ซื้อก็จะเอาไปทำอะไรก็ได้ (ซื้อมาก็ต้องใช้ให้คุ้มสิ...)

รถไฟที่ได้มาจากญี่ปุ่น จำแนกออกได้ดังนี้ (ทั้งหมดมีระบบปรับอากาศครับ)


Diesel Railcar KIHA 58/28 キハ58/28 (2538-??)
อันนี้มีเรื่องราวที่ค่อนข้างซับซ้อนและอยู่ระหว่างการค้นคว้าเอกสารอ้างอิง (กับตัวผมเองเกิดไม่ทันด้วยแหละ...) เดิมเป็นรถดีเซลรางปรับอากาศของ San-in Line ครับ ตอนแรกก็ได้รับความนิยมอยู่ แต่เพราะรถเริ่มเก่า ประกอบกับมีระบบที่ไม่เหมือนกับดีเซลรางไทย ทำให้เป็นรถที่ใช้งานยากและถูกทิ้งร้างไปในที่สุด
ทั้งนี้ รถรุ่น Kiha 58/28 เป็นรถแบบเดียวกัน ต่างกันแค่จำนวนเครื่องยนต์
โมเดล N-Gauge ของดีเซลราง Kiha 58/28 (KATO)

Series 12 Carriage 12系 客車 (2538-41)
ตู้โดยสารที่นั่งหันหน้าเข้าหากันแบบรถชั้นสาม ปรับอากาศ ได้มา 28 ตู้
(รุ่นนี้ยังเหลืออยู่ในญี่ปุ่นเป็นรถท่องเที่ยวจักรไอน้ำในบางพื้นที่)

Series 14 Carriage 14系 客車 (2547)
ตู้โดยสารที่นั่งเบาะเอนได้เหมือนรถชั้นสอง ปรับอากาศ ได้มา 8 ตู้
Series 12/14 มีที่นั่งแตกต่างกัน แต่ในการจัดแยกคลาสของญี่ปุ่นนั้นถือว่าเป็นคลาสเดียวกัน คือ standard class (ส่วนใหญ่ series 14 จะเป็นรถด่วน)

รถนั่งเหล่านี้จะมีการจัดเรียงที่คล้ายๆ กัน ประกอบด้วยรถ
OHA オハ เป็นตู้โดยสารธรรมดา เปล่าๆ เลข 12/14
OHAFU オハフ เป็นตู้โดยสารที่มีห้องพนักงาน (conductor's room) เลขรุ่น 13/15
SUHAFU スハフ เป็นตู้โดยสารที่มีห้องพนักงานและเครื่องปั่นไฟใต้ท้อง เลขรุ่น 12/14
การต่อขบวนจะประกอบด้วย OHAFU + SUHAFU แนบด้วย OHA ตรงกลางจะมีประมาณ 3-4 คัน (น่าจะไม่เกินนี้เพราะกำลังเครื่องปั่นไฟไม่พอ)
ประเภทของรถสรุปออกมาได้ตามตารางดังนี้


ต่อไปเป็นรถนอนกันบ้างครับ
รถนอนจะมีสองแบบคือ Series 14 กับ Series 24 
Series 14 จะมีเครื่องปั่นไฟภายในตัวบนรถ SUHANEFU กลุ่มนี้จะใช้กับรถนอนสั้นๆ หรือรถนอนที่มาการแยกขบวนระหว่างทาง เช่น Fuji / Hayabusa -- Akatsuki เป็นต้น
Series 24 รถรุ่นนี้มี OHANEFU ที่มีห้อง conductor room แต่ตู้จ่ายไฟจะเป็นตู้ใหญ่ๆ ตู้เดียว ไม่ได้แยกจ่ายไฟเหมือนกับ Series 14



วิธีการจำง่ายๆ ว่าตัวไหนมีเครื่องปั่นไฟกับไม่ปั่นไฟ
SU = ตู้โดยสารที่หนักกว่า 37.5 ตันและไม่เกิน 42.5 ตัน
O = ตู้โดยสารที่มีน้ำหนักไม่เกิน 37.5 ตัน
NE = นอน
Suneo ... ไม่เกี่ยว

ตู้ที่หนักกว่า หรือ SU คือมีเครื่องปั่นไฟนั่นเอง

ส่วน Series 24 จะมีตู้ Power Car เป็นของตัวเองที่เรียกว่า "KANI" หนักมากกว่า 47.5 ตัน หรือในกรณีที่รถนอนนั้นวิ่งบนทางที่มีสายไฟกระแสตรงตลอด จะมีตู้โดยสารพิเศษที่มี Pantograph อยู่บนหัว อันได้แก่ Seto/Asakaze  SUHA 25 300 

เลข 14/15 & 24/25 จะมีข้อแตกต่างคือ ขนาดของหน้าต่างฝั่งเตียง
14/24 : ตู้นอนที่มีหน้าต่างฝั่งที่นอนกับฝั่งทางเดินขนาดเท่ากัน เดิมทีแล้วเป็นที่นอนสามชั้น (เตียงบน กลาง ล่าง) แต่ภายหลังได้รับการแก้ไขเป็นที่นอนสองชั้น
15/25 (เลข 100 ขึ้นไป) : ตู้นอนที่มีหน้าต่างฝั่งที่นอนกับฝั่งทางเดินขนาดไม่เท่ากัน เป็นที่นอนสองชั้นแต่แรก ทำให้หน้าต่างฝั่งเตียงนอนมีขนาดเล็กลง

ที่ไทยได้รับมานั้นส่วนใหญ่เป็น Series 15/25 เกือบหมด มีเพียงสามตู้ที่เป็น Series 14 (ไม่มี 24)
SUHANEFU 14 25 --> บนท.ป 105 เดิม --> แก้ไขเป็นเบอร์ 201
SUHANEFU 14 50 --> บนท.ป 106 เดิม --> Accident
OHANE 14 33 --> บนท.ป 101 เดิม --> ปรับปรุงเป็น บจพ.ป 221 VIP มีระเบียง

เท่ากับว่ารถที่มีหน้าต่างเท่ากันสองฝั่งและยังเป็นรถนอนแอร์ชั้นสองนั้นเหลือเพียงคันเดียว


ตู้นอนมีสองลอต ได้แก่ล็อตปี 2547 / กับปี 2551
2547 : (หน้าต่างใหญ่สามคัน Ohane 14, SuhaneFU 14) (หน้าต่างเล็ก Ohane 15, SuhaneFU 15)
2551 : Ohane 15 , Ohane 25, OhaneFU 25 (ไม่มีปั่นไฟ)
ทีเด็ดของลอทปี 2551 คือได้รถที่เคยทำขบวน Seto/Asakaze ซึ่งจะมี
OhaneFU 25-300 มีห้องสัมภาระเล็กๆ ทำให้มีที่นอนแค่ 26 เตียง
SUHA 25-300 ที่มีแพนโตกราฟรับไฟฟ้ากระแสตรง (ทั้งๆ ที่ตอนนั้นการรถไฟไม่มีรางไฟฟ้าแม้แต่คืบเดียว???) ปัจจุบันปรับเป็น บจพ.ป 241
Orone 25 300 : RO = 1st Class ครับ เป็นห้องนอนส่วนตัวที่มีเตียงนอนเพียงห้องละเตียง จึงจัดเป็นรถนอนชั้นหนึ่ง(คิดอัตราเหมาห้อง)

ในตอนแรกที่การรถไฟได้รับรถนอนลอตแรกในปี 2547 ทุกตู้ได้รับเบอร์ บนท.ป 1XX แต่ภายหลังเพื่อแยกรถที่มีเครื่องปั่นไฟ และแยกตามจำนวนเตียงนอน ทำให้รถกลุ่ม Suhanefu Ohanefu ได้เปลี่ยนเป็นเบอร์ 20X/ 23X ในเวลาเดียวกับที่ได้ลอตปี 2551 ส่วนลอตปี 2551 เนื่องจากไม่มีรถผลิตกระแสไฟ การรถไฟจึงได้ทำการติดตั้งเครื่องปั่นไฟเองใต้ท้องรถ

การกลับมาในช่วงปี 2554
   ก่อนปี 2554 การรถไฟให้บริการบลูเทรนเฉพาะสองสามตู้ท้ายในขบวน 67/68 หรือให้บริการเต็มขบวนเฉพาะรถเสริมในช่วงเทศกาล จนกระทั่งในปี 2553 ได้มีการนำรถบลูเทรนเก่า Series 12/ 14/ 25 มาทำเป็นขบวนรถจัดเฉพาะ VIP 3 ตู้ และรถท่องเที่ยว OTOP 2 ตู้ ในเวลาถัดมาได้มีการนำรถนอนชั้นสองและรถนอนชั้นหนึ่งมาพ่วงเต็มริ้วขบวน 13/14 ทำให้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก รวมไปถึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงรถไฟในตอนนั้น   ทุกวันนี้ผมยังจำได้เลยว่ารถบลูเทรนเป็นอะไรที่ดูอลังมากในตอนนั้น




ในปีถัดมาการรถไฟได้ทำต่อโดยการเอารถ Series 12 จำนวน 10 ตู้ มาปรับปรุงเป็น Wheelchair Accessible Car ที่มีเบาะเอนนั่งสบายและมีลิฟต์ให้ผู้พิการโดยสารได้

ในปี 2559 ที่การรถไฟได้นำเข้าตู้โดยสารชุดใหม่มา ทำให้ขบวน 13/14 ที่เป็น JR-WEST Flagship กลับมาเป็นรถโดยสารสเตนเลสแบบเดิมอีก เป็นการจากไปของรถนอนบลูเทรน (แต่ก็ยังมีให้เห็นเป็นรถเสริมเรื่อยๆ) 

ในปัจจุบันได้มีการรื้อฟื้นรถดีเซลรางเก่า Kiha 58 (Kiro 28) มาเป็น Power Car และจะมีการนำรถ JR-WEST กลับมาปรับปรุงอีกครั้ง ทว่าคราวนี้เป็นสีแดงจัดจ้านจนแสบตาบอกไม่ถูกเลย (ร้องไห้)

   รถโดยสารมือสองที่ได้รับจากญี่ปุ่นนั้น ตอนแรกๆ นับว่าเป็นตัวช่วยที่การรถไฟได้มีตู้โดยสารปรับอากาศมาให้บริการมากขึ้น (หรือเป็นรถนำเที่ยวเขื่อนป่าสักด้วย) แต่ในตอนนั้นที่เศรษฐกิจและการรถไฟอยู่ในสภาพทรุดโทรมลง รถเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย บ้างก็ถูกปล่อยทิ้งร้าง แต่ในช่วงหลังก็สามารถกลับมาเฉิดโฉมได้อีกครั้ง หรือเป็นถึงรถจัดเฉพาะ VIP 
   ในฐานะคนชอบรถไฟ เป็นอะไรที่ตื่นเต้นที่ได้เห็นรถนอนที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นได้โลดแล่นบนราง (แนะนำให้อ่าน ทำไมญี่ปุ่นถึงยกเลิกรถนอน) แต่เพราะรถไฟรุ่นนี้เป็นรถไฟที่ถูกออกแบบมาในไซส์ญี่ปุ่น ทำให้อาจจะไม่ได้ตรงสเป็กกับรถไฟไทย 100% อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ใช่ที่สุดของรถไฟไทยก็ได้ครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น