30 ก.ย. 2560

20ปี การยกเลิกทางรถไฟขึ้นเขาผ่าน Usui Pass (Yokokawa - Karuizawa)

สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน


 ถ้าพูดถึง Karuizawa (軽井沢) ผู้อ่านจะนึกถึงอะไรครับ

เอาท์เล็ต ลานสกี วิวสวยๆ ของทิวเขา Asama หรือบรรยากาศสำหรับเป็นที่พักตากอากาศดีๆ

หลายๆ หนังสือท่องเที่ยวคงได้เขียนไว้ว่าการไป Karuizawa ไปได้โดยชินกันเซ็นสาย Hokuriku หรือไม่ก็รถบัส
แต่ก่อนที่จะมีชินคันเซ็นนั้น Karuizawa เคยมีทางรถไฟสายหลักที่เชื่อมมาจากโตเกียวมาก่อน แต่ทว่าก่อนที่ชินกันเซ็นจะเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 ทางรถไฟสายหลักถูกตัดขาดไปอย่างไม่มีวันกลับ ทางรถไฟที่ยังเหลือเริ่มต้นตั้งแต่ Karuizawa ขึ้นไปตอนเหนือก็ถูกแบ่งแยกไปให้เอกชนท้องถิ่นเดินรถไฟ...
ย้อนกลับมาดูเหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2540 เกิดอะไรขึ้นกับทางรถไฟสายหลักเส้น Shinetsu line ช่วง Yokogawa - Karuizawa
เสาอาณัติสัญญาณที่ถูกทิ้งร้าง

ช่องเขาUsui (Usui pass/Usui Toge/碓氷峠) ช่องเขาที่อยู่ระหว่างอันนากะจังหวัด Gunma และคารุอิซาวะจังหวัด Nagano ระยะทางเพียงแค่ 11 กิโลเมตร แต่จะผ่านช่องเขานี้ไปได้นั้นจะต้องไต่เขาขึ้นไปสูงถึง 550 เมตรเลยทีเดียว
เท่ากับว่าความชันโดยเฉลี่ยของทางรถไฟสายนี้จะอยู่ที่ 55 เมตรต่อกิโลเมตรหรือ 55‰ (อ่านว่า เปอร์มิล) โดยความชันสูงสุดของทางรถไฟสายนี้อยู่ที่ 66.7‰
สำหรับรถไฟ แค่ความชันประมาณ 30‰ ก็ทุลักทุลนกันพอสมควรครับ ความชันขนาดนี้ รถไฟฟ้าที่สั้นเพียง 3 ตู้ยังไม่สามารถไต่ขึ้นไปได้ และต้องมีหัวรถจักรคอยเสริมเพื่อให้ผ่านพ้นช่องเขานี้ไปได้ครับ

รางรถไฟแบบฟันเฟือง (Abt track)
โรงแปลงไฟ Maruyama ให้กับทางรถไฟสาย Usui pass

เรามาย้อนดูประวัติศาสตร์และกลไกของรถไฟสายนี้ Usui pass กันครับ ครั้งที่เริ่มสร้างทางรถไฟ ได้มีการนำรางเฟือง (Abt track) เข้ามาติดตั้งในเส้นทางนี้ พร้อมกับหัวรถจักรที่มีล้อเฟืองอยู่ตรงกลางเพื่อเพิ่มการยิดเกาะกับราง ไม่ใช่แค่นั้นเพื่อเพิ่มพลังให้กับรถจักร ได้มีการนำรถไฟฟ้ามาใช้งานในเส้นทางทำให้เส้นทางนี้เป็นเส้นทางรถไฟสายแรกๆ ที่ได้ทำการติดตั้งระบบไฟฟ้าครับ ภาพด้านบนที่เห็นอยู่คือโรงจ่ายไฟฟ้า Maruyama อยู่ห่างจากสถานีปลายทาง Yokogawa ในปัจจุบันไปประมาณสองกิโลเมตรครับ

ผมได้มีโอกาสสำรวจเส้นทางรถไฟสายเก่าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สามารถเดินจากปลายทาง Yokogawa (เป็นจุดเริ่มต้นไต่ช่องเขา Usui pass) ไปจนถึงกลางทางครับ ทว่าไม่สามารถเดินไปถึง Karuizawa ได้นะครับ ระหว่างทางก็จะเจอกับมอเตอร์เวย์ที่พาดผ่านเหนือทางรถไฟสายเก่า
ทางรถไฟแบบปกติ สัมผัสได้ถึงความชัน
ต่อมารางรถไฟแบบฟันเฟืองถูกยกเลิกไป และเปลี่ยนไปใช้รางรถไฟแบบปกติ พร้อมกับเปลี่ยนไปใช้หัวรถจักรรุ่นพิเศษ EF63 ซึ่งจะต้องพ่วงพหุ(สองหัวรถจักร)ไปกับรถไฟฟ้าและรถไฟด่วนขึ้นเขานี้
รถไฟด่วนพิเศษรุ่น 189 ซึ่งมีมอเตอร์ที่ออกแบบมาให้สำหรับขึ้นเขา แต่ก็ยังไม่พอ ต้องใช้รถจักรลากเสริม

ทางรถไฟสายปัจจุบันถูกทิ้งร้างไป แต่รางบางส่วนยังไม่ได้ทำการรื้อถอน ส่วนทางรถไฟแบบฟันเฟืองได้ทำการรื้อถอน แต่ยังเหลือเส้นทางที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้
 เส้นดั้งเดิมเป็นเส้นรางเดี่ยว มีอุโมงค์ที่สามารถเดินได้ 10 อุโมงค์ครับ
ระหว่างอุโมงค์ที่ 5 และ 6 จะเจอกับสะพานอาร์ชแบบโค้ง(หรือที่เรียกกันติดปากว่าสะพานแว่นตา) การเดินสำรวจครั้งนี้ผมขอหยุดที่สะพานแว่นตานี้ละกันครับ อุโมงค์ที่ 6 นั้นมีความยาวถึง 500 เมตร ซึ่งเท่ากับต้องเดินไปกลับ ผมไปคนเดียวและมันมืดมากๆ เลยขอมาถึงแค่สะพานแว่นตาพอครับ

อุทยานรถไฟนี้มีพื้นที่กว้างมากๆ เหมาะสมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบทั้งประวัติศาสตร์และรถไฟครับ

ส่วนที่สถานีปลายทาง Yokogawa มีพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสถานี (จริงๆคือโรงเก็บรถไฟเก่าครับ) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงหัวรถจักรและตู้รถไฟเก่าๆ ไว้กลางแจ้งครับ สภาพอาจจะดูโทรมกว่าที่เห็นในพิพิธภัณฑ์ที่เก็บในร่มและตัวพิพิธภัณฑ์เองก็ไม่ค่อยมีคนเข้าชมเท่าไหร่ ความเงียบเหงาและแอบร้างนิดๆ ของพิพิธภัณฑ์นี้ชวนย้อนให้รำลึกถึงวันเก่าๆ ที่รถจักรเหล่านี้เคยวิ่งสง่างามเชิดหน้าขบวนรถไฟ หรือหัวรถจักรที่เคยฝ่าฟันอุปสรรคทางชันบนช่องเขา Usui Pass (บางหัวยังได้รับการบำรุงและมันวิ่งได้นะครับ)
จริงๆ ที่สถานี Karuizawa เท่าที่จำได้ก็มีร่องรอยทางรถไฟสายเก่าที่ถูกตัดขาดอยู่ครับ ผู้อ่านถ้าได้มีโอกาสไป Karuizawa ก็ลองนึกถึงอดีตของทางรถไฟสายนี้ดูครับ

ปัจจุบันนี้เราได้เพิ่มเติมบทความเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์รถไฟในญี่ปุ่นมาให้ทุกท่านได้ชมกันด้วยเช่นกันครับ!!!

WORKETA
30 September 2017

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น