กลับไปค้นรูปเก่าๆ พบว่าตัวเองถ่ายรูปรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างในกรุงเทพสะสมเก็บไว้ตลอดโดยที่ไม่รู้ตัวเลย
ไม่สิ ต้องรู้ตัวสิครับว่ากำลังถ่ายอะไรอยู่ตรงหน้า แต่ตอนถ่ายก็ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้คิดจะเปรียบเทียบ before - after อย่างไร แค่ตื่นเต้นว่าตรงนี้ที่เราผ่านบ่อยๆ กำลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า เลยถ่ายเก็บไว้ ผ่านไปอีกปีสองปีก็กลับมาเห็นว่ามันเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ก็ถ่ายเก็บไว้เรื่อยๆ รอวันที่เสร็จเป็นรูปเป็นร่าง...
วันนี้เลยขอรวบรวมภาพรถไฟฟ้าขณะก่อสร้างที่ถ่ายสะสมไว้โดยไม่รู้ตัวกว่า 10 ปี มาให้ผู้อ่านได้ชมกันครับ
สายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล)
หลังจากรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทย ช่วง หัวลำโพง - บางซื่อ เปิดให้บริการในปี 2004 ก็มีการพูดถึงส่วนต่อขยายไปยังฝั่งธนบุรีอยู่เรื่อยๆ จนในที่สุดก็เริ่มก่อสร้างในช่วงปี 2012 ตอนนั้นเรียนที่สวนกุหลาบ ไปโรงเรียนผ่านดิโอลด์สยามทุกวันก็จะเห็นเขาปิดถนนบางเลนเพื่อสร้างรถไฟใต้ดิน แล้วเขาก็ว่ากันว่าตอบจบ ม.6 น่าจะเสร็จ แต่สุดท้ายกว่าจะเสร็จก็เกือบๆ มหาลัย ปี 2-3 (2019) เลย
สายสีเขียว (บีทีเอส)
บีทีเอสที่เราคุ้นเคยก็มีการขยายเส้นทางมาเรื่อยๆ ส่วนต่อขยายแรกคือสายสีลมที่ข้ามฝั่งธนฯ ไปยังวงเวียนใหญ่ หลังจากเปิดให้บริการครั้งแรกได้ 9 ปี จากนั้นไม่นานขยายสายสุขุมวิทไปจนถึงขอบรอยต่อของกรุงเทพกับสมุทรปราการ (แบริ่ง) สายสีลมขยายมาถึงบางหว้าในปี 2013-14 พักหายใจสักนิด แล้วตามด้วยส่วนต่อขยายสายสุขุมวิททั้งสองด้านที่ยาวมากๆ ทำให้สายสุขุมวิทมีสถานีมากถึง 47 สถานี อยากรู้เหมือนกันว่าถ้านั่งจากต้นทางคูคตไปถึงปลายทางเคหะสมุทรปราการจะใช้เวลานานแค่ไหนกัน... ทั้งนี้ ผมไม่ได้ติดตามการก่อสร้างสายสีเขียวเท่าไหร่นัก เลยขอเป็นภาพหลังเปิดให้บริการแล้วมาคั่นรายการเฉยๆ ละกัน
สายสีแดง ++
Bangkok Monorails
นับได้ว่ามาเร็วเสร็จเร็ว หรืออาจจะมีการวางแผนมานานแล้วแต่ผมไม่ค่อยได้ติดตามเท่าไหร่ บ้านผมอยู่ในเมืองด้วยเลยไม่รู้จักรอบนอกชานเมืองกรุงเทพเท่าไหร่ แต่ก็ยอมรับว่ามาเร็วเสร็จเร็วจริง เพราะใช้ระบบรถไฟรางเบา (Light Rail) โครงสร้าง เล็กๆ เบาๆ ใช้เวลาก่อสร้างไม่นาน ที่เลือก Light Rail เส้นทางนี้ออกแบบมาให้เป็นแค่เชื่อมนอกเมืองกับนอกเมือง เพื่อต่อ “Feeder” กับรถไฟสายหลักที่เข้าเมือง
แม้ว่าในช่วงที่เปิดให้บริการแรกๆ ระบบรถไฟจะมีปัญหาบ้าง แต่ก็เข้าใจว่าเป็นระบบใหม่ กับจริงๆ แล้วผมเองรู้สึกว่าเราเร่งให้ "มาเร็วเสร็จเร็ว" ไปหน่อย บางทีเราก็อยากให้ก่อสร้างเสร็จเร็วๆ เปิดเร็วๆ จะได้ลดปัญหารถติดเสียที แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเราต้องให้เวลาระบบสักนิด ให้มันเข้าที่เข้าทางและมั่นคงมั่นใจได้...
สายสีม่วง ส่วนต่อขยายด้านใต้
ความทรงจำผมกับสายสีม่วงคือตอนที่ไปเรียนที่ญี่ปุ่นช่วงแรก ได้ยินว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงจะผลิตในญี่ปุ่น ผมก็ได้มีโอกาสแว็บไปส่องดูโรงงานรถไฟสายสีม่วงซึ่งไม่ไกลจากโตเกียวในตอนนั้น ก็ตื่นเต้นที่ได้เห็นรถไฟที่จะมาวิ่งในไทยกำลังผลิตในต่างประเทศ
สำหรับสายสีม่วงฝั่งนนทบุรี อาจจะไม่ได้ติดตามเท่าไหร่นัก แต่ส่วนต่อขยายด้านใต้นั้นเป็นที่ผมสนใจมานานมากเลยทีเดียว เพราะเดิมทีแล้วบ้านผมอยู่แถวเทเวศร์ ก็ได้ยินมานานแล้วว่าสักวันหนึ่งจะมีรถไฟฟ้าใต้ดินผ่านแถวนั้น ก็ได้แต่รอและรอ (จนผมย้ายออกมาอยู่ที่สามเสนในปัจจุบัน) ในที่สุดก็เริ่มก่อสร้างกันอย่างจริงๆ จังๆ เสียที
What's next ...
นับได้ว่าตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ระบบรถไฟขนส่งมวลชนในกรุงเทพและปริมณฑลนั้นก็ได้เติบโตไปไกลมาก แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่านี่คือ “ยังไม่เสร็จสมบูรณ์” เลยทีเดียว จริงๆ แล้ว แผนระบบรถไฟขนส่งมวลชนของกรุงเทพนั้นมีมานานมากๆ กว่า 20 ปี ไม่สิ มันต้องมีก่อนผมเกิด เพราะผมเกิดก่อนรถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดแค่ปีเดียวเอง แต่เช่นรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เสร็จไปครึ่งทางแล้ว แต่รถไฟยังไม่เริ่มวิ่งนั้น อยู่ในแผนแม่บทฉบับแรกๆ เลย เพราะสำนักงานใหญ่ของ รฟม. ที่พระราม 9 นั้นมีพื้นที่ที่เตรียมไว้สำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสีส้มตั้งแต่แรกอยู่แล้ว สถานีศูนย์วัฒนธรรมก็ออกแบบพื้นที่รองรับไว้สำหรับสายสีส้มตั้งนานแล้ว
ตอนนี้ที่ทำงานผมอยู่แถวๆ แยกยมราช ก็กำลังเริ่มก่อสร้างสายสีส้มส่วนที่เหลืออยู่พอดี ก็เริ่มๆ ถ่ายตั้งแต่วันแรกๆ ที่เริ่มมีการกันพื้นที่เพื่อทำการก่อสร้าง
ตอนนี้ผมก็กลับตื่นเต้นว่าที่ที่เราผ่านบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน กำลังมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ผมก็เลยถ่ายรูปเก็บไว้เรื่อยๆ และจากที่ผมถ่ายรูปเก็บสะสมไว้โดยไม่รู้ตัวมา 10 กว่าปี ผมคิดว่าภาพถ่ายเหล่านี้เป็นบันทึกที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อเรามาเรียงต่อกันหลายๆ แผ่นบนแกนเวลา และผมก็คงจะถ่ายรูปเหล่านี้เก็บไปเรื่อย
Never Stop Growing Bangkok - To be continued
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น