19 มี.ค. 2559

รถนอนญี่ปุ่นในวันนี้ : จากการเดินทางข้ามคืนสู่โรงแรมห้าดาวเคลื่อนที่


สวัสดีครับผู้อ่านทุกท่าน
ถ้าพูดถึงรถนอนญี่ปุ่น ท่านจะนึกถึงอะไร??



รถนอนสีน้ำเงิน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "บลูเทรน"
จริงๆ รถนอนสแตนเลสที่พ่วงตามรถด่วนหลายๆ ขบวน (ยกเว้น 1/2 35/36) ก็เป็นรถนอนที่ผลิตในญี่ปุ่น(โรงงานเดียวกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง)นั่นแหละครับ

ภาพจากเพจการรถไฟ
   แต่ก็ขอพูดถึงเจ้าตัวรถนอนกว้างๆ ที่มีที่นอนเป็นห้องๆ สำหรับ 4คน ที่เราเรียกกันติดปากว่า "บลูเทรน" หรือ "เจอาร์เวสต์" ทุกท่านก็คงจะเดาได้ครับว่าที่มาของชื่อเหล่านี้คืออะไร
   รถนอนสีน้ำเงินที่ได้รับมาจากเจอาร์เวสต์ รถนอนเหล่านี้ได้รับมาฟรีๆ เมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว กล่าวง่ายๆ คือญี่ปุ่นจะบริจาคพวกรถไฟเก่าๆ ให้ต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ยังไง (แต่กลายเป็นว่าที่ไทยเราใช้ไม่ค่อยคล่องด้วยเหตุผลหลายประการ ฯลฯ) แต่เหตุผลหลักที่ญี่ปุ่นบริจาครถไฟให้ต่างประเทศคือ...
เพราะเลิกใช้งานแล้ว ถ้าจะทิ้ง(scrap)ก็เสียดาย
   ทุกวันนี้บลูเทรนวิ่งอยู่แค่เส้นกรุงเทพ-เชียงใหม่ ถ้าอยากจะไปนั่งบลูเทรนที่ญี่ปุ่น ก็คงจะเป็นไปไม่ได้แล้ว
เมื่อรถนอนญี่ปุ่นค่อยๆ ถูกยกเลิกวิ่งไป รถนอนที่วิ่งอยู่ในญี่ปุ่นปัจจุบันเหลือแค่ 2 ขบวน คือ Sunrise Seto กับ Sunrise Izumo
ซึ่งก็เป็นรถไฟฟ้า และไม่ใช่สีน้ำเงิน
   หลายๆ คนคงจะเคยได้ยินชื่อของรถนอนที่วิ่งไปเกาะฮอกไกโด ลอดอุโมงค์ใต้ทะเล เพราะมันเป็นรถนอนไม่กี่ขบวนที่ยังเหลืออยู่ในปี 2010
แต่เวลาก็มาถึง เมื่อรถถูกยกเลิกในวันที่ 20 มีนาคม 2016
   เรามาดูกันดีกว่าครับว่าทำไมรถนอนถึงถูกยกเลิก ก่อนจะอ่านต่อไป ลองคิดดูครับ..

   รถนอนที่ญี่ปุ่นก็มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่ว่าจะท่องเที่ยว เดินทางกลับบ้าน หรือเพื่อไปทำงานต่างจังหวัด ผู้คนจะต่อแถวนั่งรอรถนอน(หรือรถด่วนพิเศษข้ามคืน) อย่างแน่นหนา ออกจากโตเกียวตอนเย็นๆ ถึงที่หมายในตอนเช้า
   และบลูเทรนก็เป็นรถนอนตู้โดยสารสีน้ำเงินที่ใช้หัวรถจักรลากจูง ซึ่งเป็นที่ได้รับความนิยมจากแฟนคลับตั้งแต่เด็กๆ โอตาคุรถไฟ หรือลุงแก่ๆ ที่เขาอาจจะนั่งรถนอนชั้นสองไปทำงานต่างจังหวัดเป็นประจำ
   สมัยก่อนญี่ปุ่นก็มีทั้งรถด่วนพิเศษวิ่งกลางวัน และรถนอน ซึ่งก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน จนในปี 1964 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อรถซุปเปอร์ด่วนพิเศษแห่งความฝัน (Super Limited express of dreams ; Yume no Chotokkyu) เปิดให้บริการจากโตเกียวไปโอซาก้า ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมง
"ซุปเปอร์ด่วนพิเศษแห่งความฝัน" หรือที่รู้จักกันในชื่อ...
จากนั้นก็มีการขยายเส้นทางของเส้นซุปเปอร์ด่วนพิเศษ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ "ชิงคังเซ็น" (เส้นทางหลักสายใหม่) ทุกวันนี้รถชิงคังเซ็นสามารถไปได้ทุกที่ ถึงคิวชูในปี 1975 ขึ้นสายเหนือในปี 1982 ขยายไป hokuriku ในปี 2015 และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ขึ้นเกาะฮอกไกโดในปี 2016

   ทุกวันนี้ชินคันเซ็นเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางท่องเที่ยว ไปทำงาน ด้วยคำขวัญที่ว่า ออกโตเกียวหกโมงเช้า ทันประชุมที่โอซาก้าตอนเก้าโมง
   รถนอนก็ไม่จำเป็นอีกต่อไปถ้าเขาออกเช้า แล้วไปกินข้าวกลางวันที่โน่นได้ ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาข้ามคืน ทั้งรถนอนจะต้องเพิ่มค่าโดยสารโน่นนี่นั่น ญี่ปุ่นเองก็ให้ความสนใจกับการขยายเส้นทางชิงคังเซ็นมากกว่า
   การรถไฟญี่ปุ่นล่มสลายจากสภาวฟองสบู่ในปี 1987 แบ่งเป็นเจอาร์ส่วนภูมิภาค ก็ยังคงมีรถนอนอยู่บ้าง เช่นรถไฟสายเหนือ เพราะส่วนใหญ่คนยังใช้เดินทางกลับภูมิลำเนา
   รถนอนไปฮอกไกโดนั้น จริงๆ แล้วเริ่มให้บริการในปี 1988 เมื่ออุโมงค์ใต้ทะเลเปิดให้บริการ พร้อมกันนั้นได้มีการเปิดบริการรถนอนหรูไปฮอกไกโด จากโตเกียวถึงซับโปโร ราวกับโรงแรมเคลื่อนที่ เป็นหนึ่งในการท่องเที่ยวสู่ฮอกไกโด
Hokutosei ส่วนใหญ่เป็นรถนอนห้องเดี่ยวแยก ทั้งนี้รถเสบียงเป็นอาหารฝรั่งเศสทำให้มันหรูหราเข้าไปมากขึ้น
   แต่สุดท้ายในช่วงปี 2010 ชินคันเซ็นขยายไปถึงเหนือสุดของเกาะ และเตรียมพร้อมเข้าสู่ฮอกไกโด
   รถนอนเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนจุดหมายสู่การนำผู้โดยสารสู่ปลายทางอย่างสบายๆ เป็นการท่องเที่ยวไปในตัว ทว่าราคามันกลับแพงมาก จนทำให้คนหันไปเลือกสายการบินราคาถูก ทนๆ นั่งชั่วโมงนึง หรือไม่ก็ชินคันเซ็นซึ่งนั่งสบายไม่แพ้กัน และใช้เวลาเพียงสามหรือสี่ชั่วโมง
   ทุกวันนี้การเดินทางในญี่ปุ่นคือชินคันเซ็นแข่งกับเครื่องบิน ซึ่งเครื่องบินรวดเร็ว ส่วนชินคันเซ็นก็แพงขึ้นเล็กน้อย แต่เข้าถึงตัวเมืองโดยตรง ส่วนตัวรถนอนก็เก่าลงเรื่อยๆ เรื่อยๆ ผู้โดยสารก็น้อยลงเรื่อยๆ มีแต่คนที่ชอบรถไฟจริงๆ และคนที่มีเวลาจริงๆ ที่จะเลือกรถนอน เพราะเวลาและเงินมีค่า (อายุผู้ใช้แปรผันตามอายุรถนอน?) รถนอนรุ่นเก่าๆ ถูกยกเลิกไปหมด
   ทว่า รถนอนไปฮอกไกโดมีอีกเหตุผลที่ต้องยกเลิกไป
การปรับอุโมงค์ใต้ทะเลให้รองรับรถไฟสองระบบ
   รถชิงคังเซ็นวิ่งบนรางกว้างกว่า ถ้าจะสร้างอุโมงค์แยก คงต้องใช้เวลาอีกสามสิบปี ตัวอุโมงค์ใต้ทะเลที่เปิดตั้งแต่ปี 1988 นั้น จริงๆ สร้างไว้รองรับให้ชิงคังเซ็นวิ่งได้ตั้งแต่แรก เพียงแค่วางรางกว้าง และจ่ายกระแสไฟ 25000 โวลต์สำหรับชิงคังเซ็น
ซึ่งกระแสไฟ 25000 โวลต์นั้น รถธรรมดาที่มีอยู่ไม่สามารถวิ่งได้ ถ้าจะทำหัวรถจักรใหม่ ก็มีแต่หัวรถสินค้า เอาเวลาและเงินพัฒนารถชิงคังเซ็นจะดีกว่า
   สรุปง่ายๆ ว่ารถนอนญี่ปุ่นถูกยกเลิกเพราะ
1.คู่แข่งทางเวลาอย่างรถไฟความเร็วสูงและเครื่องบิน
2.ราคาที่แพง กับรถเก่าๆ แน่นอนว่าผู้คนเลือกรถใหม่มากกว่า
3.เหตุผลทางเทคนิค
   Cassiopeia เป็นรถนอนรุ่นใหม่ในปี 1999 ก็จริง ค่อนข้างหรูครับ แต่ก็เลิกวิ่งด้วยเหตุผลทางเทคนิค (จริงๆ ก็ไม่ได้วิ่งทุกวัน ปกติวิ่งวันเว้นวัน) วิ่งสู่ฮอกไกโดวันสุดท้าย 19 มีนาคม 2016
   Sunrise Seto กับ Sunrise Izumo นั้นยังวิ่งอยู่ทุกวันเพราะเส้นทางนั้นยังไม่สามารถไปด้วยชินคันเซ็นแบบต่อเดียว แต่ก็ยังไม่ทราบชะตากรรมอยู่ดี

   รถไฟญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ยุคการท่องเที่ยวแบบพรีเมี่ยมสวีทด้วยรถนอนราคาแพงสุดๆ กับการท่องเที่ยววนรอบแบบคอร์สสามคืนสี่วัน นี่น่าจะช่วยให้ราคากับคุณภาพสมดุลกัน (แพงมากๆ แต่ก็หรูมากๆ) ให้รถนอนกลับมา

   แต่ยังไงรถนอนก็ไม่ใช่รถนอนที่เราคุ้นเคยเหมือนเดิมอีกต่อไป



19/03/2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น