19 ก.ค. 2566

Hakata Gion Yamakasa (博多祇園山笠 2023) : สรุปแบบละเอียด

HAKATA GION YAMAKASA 2023

博多祇園山笠 2023 

   ในบล็อกเราได้มีการนำเสนอเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับเทศกาลฤดูร้อนอันเลื่องชื่อของเมืองฮากะตะให้ผู้อ่านได้ฟังแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน และในปีนี้ได้มีโอกาสไปดูเทศกาล Yamakasa แบบสดๆ กันอีกครั้ง เลยจะขอมานำเสนอให้ผู้ชมอีกรอบครับ

   ในปีนี้ แม้ว่าจะเป็นปีที่กลับมาจัดเทศกาลได้เต็มรูปแบบจากการป้องกันโรงระบาดที่ผ่านมา แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่มีผู้เสียชีวิตในเทศกาลนี้ 1 ราย ขอแสดงความเสียใจในที่นี้ด้วยครับ ว่าแต่ทำไมเทศกาลแค่ขบวนแห่นี้ถึงได้เป็นอะไรเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายได้นั้น เลยขอนำเสนออย่างละเอียดกันอีกรอบครับ

สั้นๆ ง่ายๆ บางเทศกาลขบวนแห่ของญี่ปุ่นมีคอนเสปท์คือ

FAST

FURIOUS

(และบางที DRIFTO)

   เทศกาลขบวนแห่ของศาลเจ้า Kushida Shrine ในฮากะตะที่สืบต่อกันมายาวนานกว่า 800 ปี โดยจุดเด่นของเทศกาลนี้คือมีขบวนแห่นั้นจะมาจากชุมชนต่างๆ ในบริเวณโดยรอบฮากะตะ เดิมทีแล้วว่ากันว่ามีมากถึง 10 กว่าชุมชน แต่ปัจจุบันนี้จะมีอยู่ 7 ชุมชน หรือในที่นี้เรียกว่า "Nagare 流" อันได้แก่

Nishi 西        Higashi 東        Nakasu 中洲        Doi 土居

Daikoku 大黒        Chiyo 千代        Ebisu 恵比須

   ขบวนแห่ของแต่ละชุมชนจะทำการแบกคานแห่ที่ตกแต่งด้วยตุ๊กตารูปคน นักรบ หรืออื่นๆ เข้าไปในศาลเจ้าคุชิดะ และออกมาวิ่งวนรอบเมือง ภายในศาลเจ้าจะมีแท่งไม้อยู่ตรงกลางเพื่อให้ขบวนแห่วิ่งวนรอบแท่งไม้หนึ่งรอบ ชุมชนไหนที่ทำเวลาวิ่งเข้าไปไหว้ในศาลเจ้าได้เร็วที่สุด วิ่งรอบเมืองได้เร็วที่สุด (ไม่แน่ใจว่าอันไหนที่เป็นเกณฑ์) จะได้เข้าไปไหว้ศาลเจ้าเป็นกลุ่มแรกในปีถัดไป


   เทศกาลนี้ไม่ได้จัดเฉพาะวันที่ 15 แต่จัดยาวตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 15 กรกฏาคมกันเลย โดยวันสุดท้ายเป็น Climax แต่ว่าในระหว่างวันต่างๆ ก็จะมี Yamakasa (ยามะคาสะ)วิ่งซักซ้อมกันไปรอบเมืองเช่นกัน

   ส่วนตัวคาน หรือ Yamakasa นั้น ในปัจจุบันจะมีสองแบบก็คือแบบที่วิ่งได้ของทั้ง 7 ชุมชน เรียกว่า "คาคิยามะ" (舁き山) กับแบบอลังการที่เอาไว้ตั้งโชว์ตามจุดต่างๆ เรียกว่า "คะซาริยามะ" (飾り山) 

Kazariyama at Tenjin Shintencho arcade (2022)

Preparation of Kazariyama at Hakata sta. (Mid June 2023)

   จริงๆ แล้ว Kazariyama ที่เอาไว้ตั้งโชว์ตามจุดต่างๆ ซึ่งบางทีมันก็สูงเกือบๆ เท่าตึกสามชั้นนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าเนี่ยคือสิ่งที่เขาเคยเอามาวิ่งกันจริงๆ เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว แบกหามวิ่งกันทั้งตึกสามชั้นเลย โดยจะมี Kazariyama ที่นำมา"วิ่ง"โชว์ทุกๆ ปีของ Kami-Kawabata Arcade เป็นยามะคันที่ 8 (คันสุดท้าย) เพื่อโชว์ว่าในสมัยโบราณนั้นมันเคยยิ่งใหญ่ขนาดไหน ปัจจุบันนี้ Kami-Kawabata Arcade ไม่ได้แค่สูงใหญ่กว่าเพื่อนอย่างเดียว แต่ยังมีลูกเล่นโดยการยืดความสูงได้ หรือจะมีเครื่องทำควันมาเป็นเอฟเฟคเพิ่มสีสันเข้ามาด้วย

Kami-Kawabata Yamakasa (No.8) in 2023

ค่ำคืนที่สว่างไสวตลอดคืน

   Yamakasa ในวันจริงนั้น เริ่มในเวลาตี 4 59 นาที ของวันที่ 15 กรกฎาคม ต้องเน้นย้ำอีกรอบว่าไม่ใช่ตีห้า แต่ตี 4 59 นาทีเป็ะๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าแต่ละขบวนแห่จะทยอยวิ่งเข้าไปในศาลเจ้าโดยทิ้งช่วงทุกๆ 5 นาที แต่เฉพาะขบวนแห่นำนั้นจะมีพิธีร้องเพลงเป็นการเคารพศาลเจ้าด้วย ทำให้ขบวนแห่นำจะเข้าไปเร็วกว่าเพื่อน 1 นาทีและร้องเพลงตอนตี 5 ตรงนั่นเอง
   แต่การเตรียมงานจริงจังนั้นเริ่มตั้งแต่ก่อนเที่ยงคืน ซึ่งครั้งนี้ได้มีโอกาสไปโต้รุ่งมา จึงได้ขอเล่ารายละเอียดแบบสุดๆ เลยละกัน...

   เข้ามาในตัวเมืองตอนประมาณสามสี่ทุ่ม จะเห็นคนใส่เสื้อคลุมของแต่ละชุมชนกันประปราย บ้างก็นั่งกินข้าวในร้านอาหารเพื่อเป็นการเติมพลังก่อนวิ่งกันเต็มแรง และบ้างคนเติมแก็สโซฮอล์ (ข้าว + แอลกอฮอล์...) ภายในศาลเจ้าก็จะมีซุ้มขายอาหารเหมือนในงานวัดเปิดไว้ทั้งคืน...
   ก่อนเที่ยงคืน คานตั้งโชว์หรือ Kazariyama จะเริ่มทยอยเก็บกัน หลังจากตั้งไว้เป็นเวลาสองสัปดาห์ ส่วนอันที่วิ่งได้นั้นก็จะเตรียมตัวเพื่อทยอยเคลื่อนขบวนต่อไป (อันวิ่งได้ก็มีตั้งโชว์ตามจุดต่างๆ ครับ)

   ตีหนึ่งตรง ถนนหน้าศาลเจ้าถูกปิดไม่ให้รถยนต์วิ่ง ไฟจราจรข้ามถนนที่อาจจะเกะกะคานแห่ถูกโยกออกไปพ้นจากเหนือถนน กลุ่มคนก็จะค่อยๆ ทยอยเข้ามาตั้งขบวนกัน

   นอกจากขบวนที่จะมาแห่ยามะคาสะแล้ว ยังมีอีกหลายชุมชนมากๆ ที่วิ่งเข้าๆ ออกๆ ศาลเจ้าตลอดคืน คิดว่าเป็นการวิ่งเข้าไปสักการะประจำปีตามประเพณี ถนนที่ถูกปิดนั้นเต็มไปด้วยคนในชั่วพริบตาเลย ส่วนกลุ่มที่แบก Yamakasa ก็จะทยอยกันตั้งขบวนตามลำดับที่จัดไว้ และมีการวิ่งมาทำความเคารพหัวขบวน
   พิธีภายในศาลเจ้านั้นเริ่มตั้งแต่ประมาณตีสาม ในศาลเจ้าจะมีอัถจรรย์ที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะงานนี้ให้ผู้ชมซื้อบัตรเข้าไปดูได้ ผมเองก็ได้แต่ยืนดูจากข้างถนน (ดีแล้วที่มาตอนเที่ยงคืน ถ้ามาหลังตีสี่นั้นไม่มีทางที่จะจับจองที่หน้าศาลเจ้าได้เลย.. แต่ก็พอจะชมได้ตามถนนเส้นอื่นๆ)

ทำไม Yamakasa ถึงมีขนาดเล็กลง

   ลองคิดดูว่าตึกสามชั้นวิ่งได้เนี่ยมันจะน่ากลัวขนาดไหน และถ้าจะแข่งกันที่ความเร็วเนี่ย เวลาที่เบรคมันเบรคไม่อยู่จริงๆ ที่ผมไปดูมาเมื่อวันนั้นก็มีอุบัติเหตุเล็กๆ เมื่อรถคานคันหนึ่งเบรคตัวโก่งตอนที่วิ่งออกมาจากศาลเจ้า ทำให้คนที่นั่งอยู่บนรถก็กระเด็นออกจากรถไปเลย... ที่เบรคตัวโก่งนั้นก็เพื่อต้องการให้เขาหยุดเวลาในการวิ่งเข้าศาลเจ้าให้เร็วที่สุด

   อีกประการหนึ่งที่ Yamakasa ถูกลดขนาดลงจริงๆ คือเพราะว่าเริ่มมีรถรางวิ่งในเมือง Yamakasa ก็ต้องลดขนาดลงให้พอที่จะลอดสายไฟฟ้าของรถราง(หรือสายไฟตามถนนอื่นๆ) ได้
ปัจจุบันรถรางได้เปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน ทำให้ยามะอันใหญ่กลับมาโลดโผนกันในเมืองได้อีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นแค่วิ่งโชว์อันสุดท้ายก็ตาม...

   แต่ที่ว่าเล็กลงนั้น ก็ยังมีน้ำหนักรวมกันมากกว่าหนึ่งตัน (รวมคนที่ขึ้นไปนั่งบนนั้นด้วย 6 คน) เลยทีเดียว ทำให้ไม่อาจบอกได้ว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่...

ถังน้ำที่ถูกวางไว้ตามเส้นทางขบวนแห่ เอาไว้สาดน้ำคลายร้อนให้กับคนที่วิ่งแบกคาน
(ไม่ต้องห่วงนะครับ คนดูริมถนนไม่โดนสาด...)

   เทศกาลแห่ฤดูร้อน (หรือบางที่ก็จะเป็นฤดูเก็บเกี่ยว) บางที่ก็มีความสวยงาม ยิ่งใหญ่อลังการ และบางที่ผู้คนก็จะบ้าคลั่งไปด้วยอากาศร้อน เช่นแข่งกันว่าพวกไหนจะวิ่งแห่กันได้เร็วที่สุด ฯลฯ เทศกาล Hakata Yamakasa นั้นยังถือว่าเบาๆ บางท่านอาจจะเคยได้ยินเทศกาล "ดันจิริ" ทางตอนใต้ของจังหวัดโอซาก้า ซึ่งแข่งกันลากเกวียนติดล้อว่าใครจะสามารถวิ่งเข้าโค้งได้เร็วที่สุด เวลาเลี้ยวโค้งแล้วเร่งความเร็วแบบสุดๆ และล้อเกวียนนั้นเป็นล้อไม้ขนาดใหญ่ที่เลี้ยวไม่ได้ด้วย แหกกฏฟิสิกส์และความปลอดภัยที่เคยเรียนมาทั้งหมด แต่ก็เป็นจุดขายอย่างหนึ่งที่เรียกผู้ชมได้หลายพันหมื่นคน

   เทศกาลที่เต็มไปด้วยสีสันและความสนุกนั้น บางทีก็แฝงไปด้วยความไม่ปลอดภัยที่อาจประสบได้ทุกเมื่อ (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 危険との隣り合わせ) แต่เชื่อว่าทุกท่านจะได้ประทับใจ
Yamakasa & Nishitetsu Bus
สัญลักษ์คู่บ้านคู่เมืองฟุกุโอกะ

   ปีนี้เป็นฤดูร้อนสุดท้ายที่ผมจะอยู่ที่ญี่ปุ่นแล้ว ผมเองก็ดีที่ได้ดูเทศกาลนี้เต็มๆ ตาอีกครั้งครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น