สวัสดีกับตอนที่สองของ Worketa Ramen Review ที่เราจะพาไปค้นหาราเมงที่อร่อยที่สุดในฟุกุโอกะกันครับ
◇◇ PART 1 ◇◇ PART 2.2 ◇◇ PART 3 ◇◇ PART 3.2 ◇◇
ในบทนำ เราทำความรู้จักกับประเภทของราเมง และในตอนที่หนึ่ง เราพาไปรู้จักราเมงที่มี "เลขหนึ่ง" อยู่ในชื่อร้าน สำหรับตอนที่สองนี้เราจะกลับมารู้จักแหล่งที่มาของราเมงซุปกระดูกหมูกันอีกนิดนึงครับ
ใช่ครับ ที่เรากลับมาพูดเรื่องนี้ในตอนที่สอง เพราะว่ากันว่าราเมงซุปกระดูกหมูนั้นมีต้นกำเนิดอยู่สองที่มาครับ
ราเมงซุปกระดูกหมูที่นำเสนอในที่นี้เรามักจะเรียกติดปากกันว่า Hakata Ramen ซึ่งแน่นอนว่าฮากะตะเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดของราเมงซุปกระดูกหมูที่รู้จักกันไปทั้งในและนอกประเทศ และเจ้าราเมงซุปกระดูกหมูนี้มีที่มาจากย่านตลาดปลา Nagahama นั่นเองครับ
ทำไมตลาดปลา แต่เป็นต้นกำเนิดของราเมงซุปกระดูกหมูล่ะ เพราะว่าราเมงนี้เป็นเมนูง่ายๆ อาหารจานด่วนสำหรับพ่อค้าแม่ค้าและแรงงานที่ทำงานในตลาดปลาในช่วงยุค 1960 ครับ ซุปกระดูกหมูนั้นก็ไม่ได้เป็นซุปที่รสชาติเข้มข้น แม้จะอ่อนโยนแต่ก็มีความ creamy ในตัวซุปของมันเองครับ
อีกอย่างถ้าใครสังเกตก็จะเห็นว่าราเมงทงคตสึของฮากะตะ (หรือของคิวชูโดยทั่วไป) นั้นจะเป็นเส้นเล็ก ทั้งนี้เพื่อให้ไม่เสียเวลาในการลวกเส้น และหมุนเวียนลูกค้าในตลากได้รวดเร็วขึ้นนั่นเองครับ ส่วนเครื่องโรยหน้าของเจ้าราเมง Nagahama นั้นก็ไม่ได้หรูหราอะไรเลย เพียงแค่หมูสไลด์ต้มชิ้นบางๆ กับต้นหอมสับครับ
ข้าวหน้าเนื้อนี้ก็เป็นอาหารง่ายๆ เนื้อวัวชิ้นบางที่ต้มไว้กับซอสกับหัวหอมแล้วราดข้าว เสิร์ฟในเวลารวดเร็วครับ ซึ่งข้าวหน้าเนื้อ Yoshinoya ร้านแรกของโลกนั้นอยู่ในมุมเล็กๆ ท้ายตลาดปลา Tsukiji อยู่คู่กับตลาดปลาตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่ตลาดปลาชื่อดังแห่งนี้ถูกปิดตัวลง
Nagahama Number 1 (長浜ナンバーワン) ร้านนี้ไม่ได้เป็นร้านแรกสาขาแรกแต่อย่างได แค่มีชื่อว่านัมเบอร์วัน ผมชอบตรงที่รสชาติกลมกล่อมกำลังดีครับ
ต่อมา เรามารู้จักกับเมือง Kurume ทางตอนใต้ของจังหวัดฟุกุโอกะซึ่งว่ากันว่าเป็นอีกต้นกำเนิดของราเมงซุปกระดูกหมูกันดีกว่าครับ Kurume Ramen นั้นว่ากันว่ามีประวัติเก่าแก่กว่าราเมงของ Nagahama ประมาณ 20 ปี โดยเริ่มจากร้านก๋วยเตี๋ยวรถเข็นเล็กๆ ในเมือง
ทั้งนี้ ราเมงของ Kurume นั้นเดิมทีแล้วก็เป็นราเมงแบบไม่เข้มข้นมาก คล้ายๆ กับราเมงของนากะฮะมะในปัจจุบัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีการแข่งขันกันเรื่องรสชาติระหว่างร้าน ทำให้ราเมง Kurume ค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นของซุปมากขึ้น (หรือแม้แต่ราเมงฮากะตะบางร้านเองก็เช่นกัน) ทำให้ปัจจุบันภาพลักษณ์ของราเมงสไตล์คุรุเมะจะเป็นราเมงสไตล์เข้มข้น ทั้งนี้มีสันนิษฐานรองรับอยู่ว่าราเมงคุรุเมะเข้มข้นกว่าของฮากะตะ เพราะว่าราเมงคุรุเมะนั้น จะทำซุปใหม่เติมเข้าไปในหม้อเก่าเรื่อยๆ เรื่อยๆ ไม่ให้หม้อซุปดั้งเดิมเกลี้ยง แล้วก็เติมไปแบบนี้เรื่อยๆ เป็นปี... สิบๆ ปี...เทคนิคนี้เรียกว่าซุปแบบ "โยบิโมโดชิ 呼び戻し" ต่างจาก Nagahama style ที่จะต้มวันละหม้อ ถ้าเกลี้ยงหม้อก็ปิดร้าน (เรียก โทริคิริ 取り切り)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น