รถไฟฟ้าสายใหม่ ช่วยลดปัญหาการจราจรได้จริงๆ หรือเปล่า
เป็นโพสต์ที่เขียนไว้เมื่อ 4 ปีก่อนครับ เมื่อตอนนั้นผมก็ลองคาดเดาไว้ (โดยที่ไม่ค่อยมีความรู้อะไรมากนัก) ว่า...
"ในขณะที่รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้เปิดใช้ จะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายไปยังรถไฟฟ้า metro (BTS/MRT) อื่นๆ เข้าไปในตัวเมือง ซึ่งสายอื่นๆ นั้นก็รับผู้โดยสารจำนวนหนึ่งมาจากย่านนอกเมืองแล้ว จะทำให้เกิด overcrowded หรือไม่ เลยลองเสนอว่าให้รถไฟฟ้า metro แต่ละสายมีรถไฟฟ้าที่วิ่งตัดระยะเฉพาะในเมือง ไม่ต้องวิ่งตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางตลอดทุกขบวน"
ในวันนี้ที่รถไฟฟ้าแต่ละสายเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมานั้น ก็เห็นชัดเจนว่าอย่างรถไฟฟ้าบีทีเอสในสายสุขุมวิทที่วิ่งยาวตั้งแต่คูคตจนถึงสมุทรปราการนั้น ก็มีรถไฟที่ตัดระยะระหว่างทาง (หมอชิต / ม.เกษตร / สำโรง) เหตุผลนั้นก็ได้แก่เป็นการเพิ่มความถี่ให้กับช่วงรถไฟภายในใจกลางเมือง ส่วนชานเมืองที่คนไม่ได้อยู่กันหนาแน่นก็ลดปริมาณเที่ยวรถลงให้พอดีกับจำนวนผู้โดยสาร
ส่วนรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงที่รอคอยกันมานานแสนนานนั้น ก็มักจะมีข่าวอยู่เสมอว่าไม่ค่อยมีผู้โดยสารถึงเป้าที่คาดการณ์ไว้
เราลองมาวิเคราะห์กันครับว่าทำไม รถไฟฟ้าสายสีแดงถึงไม่มีผู้โดยสารตามเป้า
ความคิดเห็นส่วนตัวของผม พูดตรงๆ ผมว่าเขาคำนวณไว้ผิดตั้งแต่แรก
อย่างสมมติว่าเราตั้งเป้าหมายผู้โดยสารไว้ที่ 100000 คน / วัน (ผมก็จำตัวเลขที่ตั้งเป้าไว้ตอนนั้นไม่ได้เหมือนกัน) โดยรถชานเมืองวิ่งตั้งแต่ 6-24 โดยวิ่งเฉลี่ยทุกๆ 15-20 นาที ก็จะมีรถไฟโดยประมาณวันละ 60 เที่ยว ไปกลับก็ 120 เที่ยว มีสองสายก็ 240 เที่ยว เพราะฉะนั้นก็หารเลขออกมาจะได้อยู่เที่ยวละเฉลี่ย 400คน/เที่ยว จึงจะได้ผู้โดยสารตามเป้าที่ตั้งไว้
ซึ่งมันไม่ make sense เลยเพราะว่ารถไฟชานเมืองไม่ใช่รถไฟในเมือง ตอนกลางวันก็จะไม่ค่อยมีผดส. เท่าไหร่นัก เพราะฉะนั้นตอนกลางวันแสกๆ มันแทบไม่มีโอกาสที่จะเห็นรถไฟฟ้าที่มีคนนั่ง 400คน/เที่ยวเลย
ตอนชั่วโมงทำงานอาจจะมีคนมากกว่า 400คน/เที่ยว สมมติว่ารถไฟเข้าเมืองช่วง 6-9 และออกเมืองช่วง 16-19 มีอย่างละ 12 เที่ยว (15min/train) อาจจะมีคนขึ้นเฉลี่ยสัก 6-700 คนต่อเที่ยว รวมสองสายก็อาจจะมีเพียงแค่ 40000 คนในชั่วโมงเร่งด่วน
เพราะอย่าลืมว่าระบบรถไฟสายสีแดงในปัจจุบันนี้ยังเป็นระบบที่เข้าเมืองออกเมืองชัดเจน ถ้าชั่วโมงเร่งด่วนเขาก็จะมีคนแน่นเพียงขาเดียว (อาจจะมีคนออกจากกลางเมืองกรุงเทพไปทำงานชานเมืองบ้าง แต่น้อยมาก) เราอาจจะลืมคำนวณส่วนนี้ไปก็ได้
ส่วนเวลาไม่มีคนจะเป็นอย่างไร รวมแล้วถึง 100000 คนต่อวันไหม ผมคิดว่าน่าจะไม่ง่ายทีเดียว
กับอีกอย่างหนึ่งคือประชาชนอาจจะกำลังอยู่ในช่วงปรับตัวอยู่ก็เป็นได้ การขนส่งสาธารณะนั้นไม่ได้เปลี่ยนชีวิตคนเมืองภายในชั่วคืนเดียว ช่วงแรกที่รถไฟเปิดบริการอาจจะมีคนให้ความสนใจเลยมาลองนั่งกันบ้าง แต่ไปสักพักก็จะเริ่มเห็นว่าช่วงแรกๆ เนี่ยก็ไม่ได้มีคนมากเท่าไหร่ครับ แต่ก็เชื่อว่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต
สายสีแดง : ไม่ได้ลดรถติดเพราะคนหันไปใช้รถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวต่อมาก็อยากจะพูดอีกเรื่องเกี่ยวกับปัญหาจราจร อันได้แก่เรื่องรถติด ซึ่งตรงนี้ รถไฟฟ้าสายสีแดงนั้นมีความเกี่ยวข้องมากกว่าการให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นจากรถส่วนตัว
เพราะรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้นเป็นการ "UPGRADE" ทางรถไฟรางไกลทางเดิม โดยนำรถไฟทางไกลเดิมนำไปวิ่งบนทางรถไฟยกระดับ ทำให้ตัดปัญหาจุดตัดระหว่างรถไฟกับถนน โดยรถยนต์ไม่ต้องเสียเวลารอรถไฟอีก
และการเปลี่ยนรถไฟทางไกลให้เริ่มต้นจากสถานีบางซื่อ แทนที่สถานีกรุงเทพเดิม(หัวลำโพง)นั้นก็จะช่วยลดปัญหาจุดตัดถนนกับรถไฟภายในกรุงเทพชั้นในได้อย่างชัดเจน ในตารางเวลารถไฟนั้นอาจจะเห็นรถไฟที่วิ่งเข้าออกหัวลำโพงอยู่จำนวนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วรถไฟเหล่านี้จะต้องมีการนำ"รถเปล่า" (out of service train) กลับไปเก็บที่พหลโยธินด้วย นั่นคือปริมาณรถไฟที่วิ่งเข้าๆ ออกๆ ช่วง หัวลำโพง - บางซื่อ เนี่ยมันเยอะมากกว่าในตารางเวลาจริงๆ เสียอีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น