20 ส.ค. 2561

รถไฟฟ้าสายใหม่ ช่วยลดปัญหาการจราจรได้จริงๆ หรือเปล่า

สวัสดีครับ
ปีนี้ผมมีเวลาว่างพอที่จะกลับไทยเป็นเวลาเกือบๆ เดือนครับ



แล้วก็ได้มีโอกาสตะลุยนั่งรถไฟฟ้า MRTยาวๆ จากหัวลำโพงไปจนถึงเตาปูน และต่อไปจนถึงเกือบๆ สุดสายของรถไฟฟ้าสายสีม่วงครับ (หลังจากที่เห็นตัวถังรถไฟฟ้าตั้งแต่อยู่ในโรงงานเลย) เข้าไปข้างในก็สัมผัสได้ถึงความเป็นญี่ปุ่น ตั้งแต่ผนังยันขอบหน้าต่าง เอาเป็นว่ามีหลายๆ อย่างที่แตกต่างกับรถไฟฟ้าสไตล์ยุโรปพอสมควรครับ

เข้าเรื่องกันดีกว่า วันนี้ผมจะมาพูดถึงแผนการเดินรถไฟฟ้าในอนาคตอันใกล้ของเรากันเถอะครับ
อีกไม่นานเราก็จะมีรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ทยอยกันเปิดให้บริการครับ และหลายๆ คนก็หวังว่าจะเป็นความหวังที่ไม่ต้องเผชิญกับรถติดยาวๆ กันอีก แต่ทีนี้ก็อาจจะต้องเผชิญกับรถไฟฟ้าแน่นไปอีกสักพักแหละครับ
ประเด็นในวันนี้คือ รถไฟฟ้าเหล่านี้จะสามารถตอบสนองชาวกรุงได้ตามความต้องการหรือเปล่า เราลองมาดูแผนที่รถไฟฟ้ากันครับ


รถไฟฟ้าของเราจะประกอบด้วยรถไฟบีทีเอสที่เข้าสู่ใจกลางเมือง กับรถไฟ MRT Blue Line ที่ป้อนเข้ามาจากนอกเมืองหนึ่งสาย กับสายที่วนเป็นรูปตัว Q (หรือเลข9 แล้วแต่จะมอง) อีกสาย จากนั้นจะเป็นรถไฟสายชานเมืองในโครงการสายสีแดงอีกสามสายจากทิศตะวันออก เหนือ และตะวันตก
ปัจจุบันปัญหาที่เราเคยพบเจอคืออะไร ผมเคยเขียนบล็อกไปเมื่อปีก่อนเกี่ยวกับแอร์พอร์ตลิงก์ในหัวข้อ "เพราะผู้โดยสารร้อยละ160ไม่ได้ไปแอร์พอร์ต" สำหรับหัวข้อนี้ก็จะเป็นเนื้อหาเชิงต่อเนื่องกัน แต่จะพูดถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเนื่องจากผู้คนที่อาศัยอยู่นอกเมืองหันมาเลือกใช้รถไฟฟ้าเข้าเมืองทั้งหมด จะทำให้ผู้โดยสารต้องมีการเปลี่ยนรถอีกขั้นหนึ่งเพื่อเข้าไปในเมือง แต่ทั้ง BTS และ MRT สายสีน้ำเงินนั้นก็มีผู้โดยสารที่เข้ามาจากนอกเมืองอยู่แล้ว ทำให้เหมือนกับว่าผู้โดยสารจะค่อยๆ ถูกอัดเข้าไปทีละขั้นๆ จนกว่าจะมีผู้โดยสารลงที่สถานีใดสถานีหนึ่งในเมือง ให้ผู้อ่านลองนึกภาพรถไฟสายสีน้ำเงินต้นทางท่าพระ วนตามเข็นนาฬิกาดูครับ ก็อาจจะมีผู้โดยสารที่ต่อรถจากบางแคมาบางส่วน กับผู้โดยสารรายทางค่อยๆ สะสมมาเรื่อยๆ จนมาถึงที่เตาปูน ตู้ม ผู้โดยสารเทลงมาจากสายสีม่วง (หรือบางทีถ้ามีผู้โดยสารที่ต้องการไปทำงานทางนนทบุรีก็จะลดลงบ้างแต่ก็ลดลงไม่มาก) แล้วต่อด้วยรถไฟชานเมือง (สีแดง) ที่เทลงมาที่บางซื่อ แล้วลองคิดดูว่าผู้โดยสารรอต่อ MRT ที่บางซื่อจะมากแค่ไหน
กว่าผู้คนจะทยอยลงได้ก็ต้องไปถึงเกือบๆ หมอชิตที่คนทยอยกันลงไปเปลี่ยน BTS
ซ้ำแล้วรถไฟฟ้าบีทีเอสก็จะขยายออกไปทางทิศเหนืออีก ทำให้เราไม่ได้นั่งต้นทางที่หมอชิตกันอีกต่อไป

ส่วนตัวผมเอง ผมให้คำตอบสำหรับการแก้ไขปัญหานี้ง่ายๆ คือ รถไฟชานเมืองต้องเชื่อมบางซื่อกับพญาไทให้ได้ก่อนที่รถจะติดมากเกินไป ส่วนตัวผมเองก็แนะนำว่าควรจะเร่งส่วนต่อขยายของแอร์พอร์ตลิงก์ไปให้ถึงดอนเมืองทำให้สองสนามบินสามารถไปมาหาสู่กันได้ แต่ก็จะมีปัญหาในการจัดหาขบวนรถเพิ่มเติม หรือยังเหลือปัญหาเก่าๆ ที่ยังค้างอยู่? คงไม่หรอก...


อีกวิธีหนึ่งที่จะลดปัญหาได้คือการจัด "รถเสริม"
อย่างที่แอร์พอร์ตลิงก์ให้บริการรถเสริมหัวหมาก หรือแม้แต่ใช้รถไฟดีเซลรางเข้ามาช่วยเสริมการบริการนั้น ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่น่าจะนำมาใช้ได้ กล่าวคือรถไม่ได้วิ่งถึงสุวรรณภูมิ แต่วิ่งแค่พญาไท หัวหมาก เพื่อบรรเทาผู้โดยสารที่ตกค้างในช่วงเวลาเร่งด่วน เช่นกันถ้าจะให้สายสีน้ำเงินจัดรถเสริม ก็อาจจะวิ่งแค่เตาปูนถึงหัวลำโพง (คือไม่ต้องวิ่งวนข้ามฝั่งธนฯ)
แต่เชื่อว่าคนกรุงส่วนใหญ่ชินกับรถไฟฟ้าที่วิ่งตลอดระยะทาง(ไม่หมดระยะ) เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการปรับปรุงสำหรับการประกาศให้ผู้โดยสารรู้ว่ารถขบวนนี้วิ่งไปไหนด้วย(บีทีเอสบางทีก็มีแบบมาจากหมอชิตแล้ววิ่งเข้าสายสีลมที่สยาม..ป่ะครับ)
การทำแอร์พอร์ตลิงก์ต้องใช้เวลาพอสมควร อาจจะต้องใช้รถดีเซลรางเสริมระหว่างบางซื่อกับหัวลำโพงหรือพญาไท (ไปต่ออีกหน่อยก็ดี เชื่อมสายตะวันออกถึงลาดกระบังไปเลย)

สุดท้ายนี้ก็คงต้องติดตามกันว่าในอนาคตอันใกล้ที่รถไฟฟ้าทยอยเปิดๆ พร้อมๆ กันหลายสาย เราจะเจอกับอะไรบ้าง ไม่มีทางที่ปัญหารถติดของกรุงเทพจะหายไปทีเดียวอย่างแน่นอนเมื่อวันที่รถไฟฟ้าเปิด แล้วพอคนทยอยกันใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นๆ มันก็จะเกิด overflow ของผู้โดยสารซึ่งก็ต้องมีการรับมือในอนาคต รวมถึงผู้โดยสารเองก็ต้องเตรียมตัวเองกับ "ปลากระป๋อง" ด้วย

ในโพสต์นี้ผมยังไม่ได้พูดถึงรถไฟฟ้าสายอื่นๆ เลย ซึ่งมันก็น่าจะแบ่งเบาความแออัดไปได้บ้าง อย่างส่วนต่อของรถไฟฟ้าสายสีม่วงลงทิศใต้จะทำให้ผู้โดยสารบางส่วนไม่ต้องเปลี่ยนรถที่เตาปูน ฯลฯ



เพิ่มเติม : บทความนี้ได้รับการแก้ไขเล็กน้อยในปี 2022

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น