30 มิ.ย. 2568

หลังจากนั่งรถไฟเที่ยวทั่วญี่ปุ่น 10 ปี และกลับมาทำงานระบบรางในไทย 1 ปี

มีนาคม 2567


    ผมกลับประเทศไทยหลังเรียนจบปริญญาโทที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับรวมแล้วผมไปเรียนญี่ปุ่นเป็นเวลา 10 กว่าปี ต่อมาในเดือนมิถุนา ผมได้เริ่มทำงานเกี่ยวกับระบบรางในไทย ซึ่งการได้ทำงานเกี่ยวกับระบบรางนั้น นับว่าเป็นหนึ่งในฝันของผมตั้งแต่เด็ก

    ตั้งแต่เด็กผมฝันอะไรไว้ และ 10 ปีที่ผมไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นมาผมได้อะไรมาบ้าง และหลังจากที่ได้ทำงานกับระบบรางในไทยเป็นเวลา 1 ปี ผมวาดฝัน ความหวังอะไรกับระบบรางของไทยไว้…

ชอบรถไฟตั้งแต่จำความได้

    เวลาไปส่งญาติขึ้นรถไฟกลับต่างจังหวัด ก็นั่งดูล้อรถไฟหมุนไปหมุนมา เพราะว่าชานชาลารถไฟของเราอยู่ต่ำ ก็จะเห็นล้อหมุนไปหมุนมา เวลานั่งรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่นั่งเป็นแบบหันหน้าเข้าหากัน ก็พยายามปีนที่นั่งเพื่อจะได้ดูวิวนอกหน้าต่าง แล้วไม่ได้ดูวิวธรรมดา ดูราง ก็จะตื่นเต้นกับรางแยกตรงแถวๆ สยาม พญาไท ฯลฯ

Quiz : มีใครเคยนั่งรถต๊อกเที่ยวสะพานแม่น้ำแควหรือถ้ำกระแซ รุ่นนี้ไหมครับ?

    Passion ของผมเทให้กับรถไฟมากๆ ตั้งแต่ตอนนั้น นอกจากรถไฟของจริงแล้วรถไฟของเล่นก็เช่นกัน มีรถไฟของเล่นญี่ปุ่น Plarail มากมาย นั่งเล่นไปเรื่อย หรือแม้แต่นั่งอ่าน catalog ก็เพลินได้ทั้งวัน (เพราะพ่อแม่ไม่ซื้อให้เราทุกอย่างเสมอ)

    Plarail ทุกวันนี้ก็ยังเก็บไว้ - เท่มากๆ รถไฟชินคันเซ็นสองหัวจุ๊บกันได้ด้วย...

    จากรถไฟหลากหลายที่เราเห็นจาก Plarail ยิ่งทำให้เราอยากรู้ว่าของจริงที่ญี่ปุ่นมันเป็นยังไง จากนั้นได้ไปเที่ยวญี่ปุ่นกับครอบครัวบ้าง ได้นั่งได้เห็นรถไฟญี่ปุ่นของจริง ยิ่งเท่กว่าของเล่นเป็นเท่าตัว เที่ยวสองสามครั้งก็ประทับใจทุกครั้ง ทั้งรถไฟญี่ปุ่น ตัวเมืองท่องเที่ยว ฯลฯ ถ้าถามผมว่าอะไรที่ชอบเกี่ยวกับญี่ปุ่น หลายคนจะตอบของกิน ท่องเที่ยว มังงะหรืออนิเมะบ้าง แต่สำหรับผม “รถไฟญี่ปุ่น” มาเป็นอันดับแรก

ชินคันเซ็น E4 MAX เมื่อตอนไปเที่ยวญี่ปุ่น - นี่ไง! ชินคันเซ็นสองหัวจุ๊บกันได้ด้วย!!!

ตุลาคม 2556

    หลังจากผมจบ ม.3 ที่ไทย ผมได้โอกาสไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ ม.4 คราวนี้ก็ได้เวลาสนุกเต็มที่กับประเทศแห่งรถไฟ ส่วนเรื่องที่ผมไปเรียนและผจญภัยที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ ม.4 ถ้ามีโอกาสจะเล่าให้ฟัง แต่วันนี้ขอพูดเรื่องรถไฟก่อนละกัน

รูปรถไฟที่ถ่ายในช่วงแรกๆ 2014 - 2015

    ความชอบในรถไฟของผมจะออกไปทาง “ตัวรถ” มากกว่า “การนั่งรถไฟ“ และตอนนั้นผมก็เริ่มเล่นกล้องถ่ายรูป มีเวลาก็ออกไปถ่ายรูปถ่ายวิดิโอรถไฟไปเรื่อย แต่ก็ไม่ได้ไม่ชอบนั่งรถไฟเสียทีเดียว บางทีก็นั่งมองแผนที่เส้นทางรถไฟที่ยุ่งเหยิงของโตเกียวและปริมณฑล แล้วคิดว่าถ้าเราอยากนั่งอ้อมๆ สำรวจเส้นทางรถไฟที่ไม่เคยนั่ง สองข้างทางที่ยังไม่เคยเห็น หรือแม้แต่ maniac อยากไปดูรุ่นรถไฟที่วิ่งเฉพาะเส้นทางแปลกๆ

นั่งรถไฟไปเรื่อยๆ จนทั่วญี่ปุ่น

    งานอดิเรกบ้าๆ อย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่นคือชอบเก็บโน่นนี่นั่น เก็บทุกอย่างให้หมด รถไฟก็จะมีคนอยากนั่งรถไฟให้หมดทั้งประเทศ ตอนแรกผมก็ไม่เคยคิดอะไรบ้าๆ แบบนั้นหรอก

    แต่ความอยากนั่งรถไฟเพิ่มมากขึ้น เมื่อตอนเรียนมหาลัยผมย้ายจากโตเกียวไป Fukuoka ได้เปิดภูมิภาคใหม่ นั่งรถไฟในเกาะคิวชูไปเรื่อย และไม่ใช่แค่เกาะคิวชู เวลาที่กลับไปหาเพื่อนที่โตเกียวก็ลองนั่งรถไฟธรรมดาไปยาวๆ ใช้ตั๋ว Seishun 18 Ticket แวะตามทางบ้างนั่งอ้อมโลกบ้างไปตามอารมณ์

    จนสุดท้ายผมนั่งรถไฟไปทั้ง 47 จังหวัด สำหรับ JR (Japan Railways) ที่มีให้บริการ ณ ปัจจุบัน (ปี 2025) นั้นผมเก็บครบทุกสายแล้ว ฟังดูเหมือนเพ้อเจ้อ เพราะว่าไม่ได้มีใครเป็นคนเก็บ record และรับรองว่าคุณนั่ง JR ครบทั้งประเทศแล้ว แต่ผมก็อยากประกาศตัวเองในที่นี้ละกันว่าผมนั่งหมดแล้ว ซึ่งถ้ามีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังอีกทีละกัน...

กลับมาทำงานที่ไทย

    ไปเรียนญี่ปุ่นตั้งสิบปี แต่ก็เลือกกลับมาทำงานในไทย อาจจะเพราะถูกกรอกหูตั้งแต่แรกแล้วว่าให้เรียนจบกลับไทย เลยไม่คิดถึงเรื่องทำงานในญี่ปุ่นแม้จะมีทางเลือก แต่ก็ไม่ได้มีอคติอะไรที่ทำงานที่ไทย อาจจะมีระบบอะไรไทยๆ ที่น่าเบื่อบ้าง แต่ถ้ามองภาพรวมว่าเป็นงานที่ผมรู้สึกชอบเพราะมันเกี่ยวกับระบบราง และผมได้ใช้ความรู้ความชอบอย่างเต็มที่ แน่นอนว่าผมมีความสุขกับการทำงานในปัจจุบัน

    ผมทำงานอะไรอยู่ตอนนี้ ? จะบอกเพียงว่าเป็นงานที่เกี่ยวกับระบบราง แต่ไม่ได้เป็น "ผู้ให้บริการรถไฟ" และไม่ได้ทำงาน "สัมผัสกับรถไฟจริงๆ" ทุกวัน แม้ว่าออฟฟิศผมจะอยู่ริมทางรถไฟก็ตาม


    แต่ก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่ทำหน้างานจริงอยู่ตลอด บางทีก็ได้มีโอกาสเข้าไปดูรถไฟจริงๆ ที่โรงซ่อมบำรุง ก็มีอะไรให้ตื่นเต้นบ้าง (บางทีก็เป็นรถไฟที่พังแล้ว ซึ่งก็ไม่อยากดู แต่ก็ต้องไปดูเพื่อเรียนรู้ว่ามันพังเพราะอะไร)



อ้อใช่... ผมไม่ได้จบวิศวะระบบราง

ผมจบแค่เครื่องกลเบสิกเท่านั้นเอง

    ช่วงหลังๆ เราเห็นประเทศไทยเราผลักดันไปกับวิศวะระบบรางกันมาก แต่ญี่ปุ่นไม่ได้มีอะไรแบบนั้น อาจมีอาจารย์บางท่าน บางมหาลัยที่มีการวิจัยเรื่องระบบราง แต่ก็ไม่ได้ปั้นกันมาเป็นหลักสูตรจริงจัง ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของญี่ปุ่นแข็งแกร่งแน่นแฟ้นอยู่แล้ว ฉะนั้นในมหาลัยญี่ปุ่นก็เรียนแต่ หรือทฤษฎีลึกๆ ไปเลย แล้วพอไปทำงานจริงใน industrial ค่อยไป apply กันต่อเอง

    หรือเพราะหลายคนในที่ทำงานเห็นว่าผมอยู่ญี่ปุ่นมา 10 ปีคงจะรู้ลึกทุกอย่างเกี่ยวกับรถไฟญี่ปุ่น พี่ๆ หรือหัวหน้าที่ทำงานก็มักจะถามผมเมื่อต้องการที่จะรู้เรื่องเกี่ยวกับรถไฟญี่ปุ่น บางเรื่องผมก็ตอบได้เพราะผมเคยศึกษามาจริง (ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากการอ่านค้นคว้าเองบ้าง) แต่บางเรื่องผมก็ตอบได้แค่ตามประสบการณ์เท่านั้นเอง...

Series E235 - Yamanote line in J-TREC Niitsu Factory in 2017

    แต่เพราะที่ญี่ปุ่นมีอุตสาหกรรมระบบรางที่แน่นแฟ้น และเขาพร้อมเปิดให้ทุกคนได้เรียนรู้ เช่นการจัดกิจกรรม Open Day ให้ใครก็ได้เข้าไปเยี่ยมชม ผมโชคดีได้มีโอกาสไปชมโรงซ่อมรถไฟ หรือแม้แต่โรงงานผลิตรถไฟในญี่ปุ่นหลายครั้ง แต่ละครั้งไม่ได้เป็นแขกรับเชิญอะไรนะ เขาเปิดให้ทุกคนมาชม โรงงานผลิตรถไฟอยู่ต่างจังหวัดต้องนั่งชินคันเซ็นไปกลับเกือบหมื่นเยน ผมก็ไปมาแล้วเพราะผมใคร่ที่จะอยากไป... นั่นทำให้ระบบรางญี่ปุ่นเหนือชั้นไปมาก และทำให้มีคนหลงไหลในระบบรางของญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก

คิดยังไงกับรถไฟไทย ... กับรถไฟญี่ปุ่น

    ญี่ปุ่นไปไกลกว่าเราตั้งนานแล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องรถไฟ อีกหลายเรื่องซึ่งพวกคุณก็รู้อยู่แล้ว และผมก็ไม่ชอบเลยที่คนไทยหลายๆ คนชอบไปเปรียบเทียบตัวเราเองกับญี่ปุ่น 

    แต่จริง ประเทศไทยก็เคยเก่งนะ เราเคยนำเทคโนโลยีรถไฟดีๆ จากต่างประเทศ (ญี่ปุ่นด้วย) มาตั้งนานแล้ว ตู้รถไฟก็เคยผลิตเองภายในประเทศได้ รถไฟชั้นสามที่เรานั่งกันทุกวันนี้แหละ บอกเก่า 40-60 ปี แต่นั่นแหละคือรถไฟเมดอินไทยแลนด์

    แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงมีจุดหนึ่งที่เราปล่อยละเลยมันไป ละเลยทั้งการนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ หรือแม้แต่การบำรุงรักษาเทคโนโลยีนั้นให้อยู่ในสภาพดี ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเสียดายที่สุด

    บางทีเราบ่นว่ารถไฟเราสกปรก แต่เวลาที่รถไฟไปเข้าซ่อมบำรุงใหญ่มันก็กลับมาใสวิ้งเหมือนใหม่เลยนะ แต่เรายังขาดการรักษาสภาพใสวิ้งๆ นั้นอยู่ไปนานๆ หรือบางอันเป็นเทคโนโลยีแนวหน้าแต่ไม่ได้รับการสานต่อหรือรักษาสภาพให้คงเส้นคงวา

    รถไฟปรับปรุงใหม่ต่างๆ ก็เช่นกัน อย่างรถจัดเฉพาะท่องเที่ยว Royal Blossom ที่เราได้ยินกัน เอาโครงรถเก่ามายกเครื่องทำใหม่เกือบครึ่ง ส่วนช่วงนี้ก็มีเรื่องการดัดแปลงรถไฟชั้นสามติดแอร์กำลังเป็นประเด็นยอดฮิตนั้น แต่จริงๆ เราเคยลองทำรถชั้นสามดัดแปลงติดแอร์มาตั้งแต่ปี 2530 แล้ว แต่ไม่รู้ว่าทำไมมันถึงไม่ได้รับการต่อยอดและบำรุงรักษา จนมัน faded out ออกไป

รถนั่งชั้นสามปรับอากาศ (บชส.ป)

What's next...

    หลังจากที่ผมได้กลับมาทำงานที่ไทย 1 ปี กับอีก 1 เดือน ได้เรียนรู้ ได้เห็นปัญหาต่างๆ แต่ก็เห็นความเป็นไปได้ในอนาคต ซึ่งผมเชื่อว่าเราต้องมีอนาคตที่สดใส แต่ในที่นี้ก็ไม่ได้คาดหวังว่าเราจะต้องเป็นประเทศชั้นยอดแต่อย่างไร เพราะในตอนนี้สิ่งที่เราต้องให้ความเอาใจใส่มากที่สุด ไม่ใช่การ develop นวัตกรรมใหม่และล้ำสมัย แต่เราต้อง develop นวัตกรรมเพื่อปฏิรูป "กระบวนการในการรักษาสภาพ" ในสิ่งที่มีอยู่ให้อยู่ในสภาพดีอย่างคงเส้นคงวา กล่าวคือเราต้องมี "SUSTANABILITY" ในตัวเองให้ได้เสียก่อน แค่นี้อนาคตเราก็สดใสแล้ว และจากนั้นจะต่อยอดอะไรก็ได้

    ปัจจุบันในฐานะคนทำงานระดับล่าง (supporter) คนหนึ่ง ผมก็คงทำงานตามหน้าที่ไปเรื่อยๆ ซึ่งงานที่ทำออกมานั้นจะเป็นรูปเป็นร่างเพื่อช่วยระบบรางของไทยมากน้อยแค่ไหนก็ไม่ทราบเหมือนกัน
    ส่วนในฐานะคนที่มี passion ให้กับระบบรางมาตลอด ผมก็อยากจะแชร์ประสบการณ์ที่ผมได้เจอมา เรียนรู้ค้นคว้ามา ให้หลายๆ คนได้อ่านผ่าน blogspot นี้ หรืออาจจะเป็นช่องทางอื่นก็ได้ เพราะผมก็มี YouTube อัพวิดิโอรถไฟเรื่อยๆ (แต่ก็แค่รถไฟเฉยๆ ไม่ได้เป็นวิดิโอความรู้อะไรหรอก)

    ส่วนจะทำคอนเทนต์ออกมาได้มากน้อยแค่ไหน ก็คงขึ้นกับว่าผมหาเวลาส่วนตัวให้กับงานอดิเรกอันมากมายของผมได้มากแค่ไหน เพราะผมก็ยังมี hobby อื่นๆ อีกมาก (เช่น รีวิวร้านราเมง ถถถถ) งานประจำวันก็ไม่ได้น้อยเช่นกัน... แต่ก็จะพยายามแบ่งเวลาของตัวเองเพื่อแชร์ประสบการณ์ผ่านสร้างสรรค์คอนเทนต์ เผื่อจะเป็นประโยชน์ให้กับใครสักคนที่ได้มาอ่านเจอ...


WORKETA

อยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้เขียน ➔ ➔ ➔ ABOUT ME

โพสต์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับ รถไฟ 👈👈👈

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น